การวิเคราะห์ข้อมูลผู้ใหญ่ในสหรัฐอเมริกากว่า 20,000 คน พบว่าผู้ที่จำกัดการกินอาหารภายในเวลาไม่ถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือที่เรารู้จักกันว่าการทำ “Time-Restricted Eating (TRE)” มีแนวโน้มเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดได้มากกว่ากลุ่มคนที่กินอาหารในช่วงเวลา 12-16 ชั่วโมงต่อวัน ผลวิจัยเบื้องต้นนี้ถูกนำเสนอในงานประชุม Epidemiology and Prevention | Lifestyle and Cardiometabolic Scientific Sessions 2024 ของสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association) ซึ่งจัดขึ้นที่ชิคาโก ระหว่างวันที่ 18-21 มีนาคม
การทำ Time-Restricted Eating คือรูปแบบหนึ่งของการอดอาหารเป็นช่วงเวลา (Intermittent Fasting) ที่มีการจำกัดเวลาในการกินอาหารให้เหลือเพียงช่วงเวลาหนึ่งของวัน โดยอาจลดลงเหลือ 4-12 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่ปรับการกินตามวิธีนี้จะใช้แผน ’16:8′ ซึ่งก็คือกินอาหารในช่วงเวลา 8 ชั่วโมง แล้วอดอาหารในช่วง 16 ชั่วโมงที่เหลือของแต่ละวัน นักวิจัยได้กล่าวถึงผลวิจัยก่อนหน้านี้ที่แสดงว่า TRE ช่วยปรับปรุงสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดหลายด้าน เช่น ความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด และระดับคอเลสเตอรอล
“แม้ TRE จะมาแรงในช่วงหลัง เพราะเชื่อว่าช่วยลดนำ้หนักและเสริมสร้างสุขภาพหัวใจ การจำกัดช่วงเวลากินเหลือ 8 ชั่วโมงเป็นประจำก็ยังเป็นที่นิยมอยู่” วิคเตอร์ เว็นเซ่ จง (Victor Wenze Zhong) Ph.D. หัวหน้าภาควิชาระบาดวิทยาและชีวสถิติแห่งมหาวิทยาลัยการแพทย์เซี่ยงไฮ้ เจียวทง (Shanghai Jiao Tong University School of Medicine) และผู้เขียนอาวุโสของงานวิจัยนี้กล่าว “อย่างไรก็ตาม ผลกระทบด้านสุขภาพในระยะยาวของ TRE รวมถึงความเสี่ยงในการเสียชีวิต ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด”
งานวิจัยชิ้นนี้ ศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวสำหรับผู้ที่กินอาหารตามแผน 8 ชั่วโมง โดยนำข้อมูลพฤติกรรมการกินของอาสาสมัครจากแบบสำรวจโภชนาการและสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NHANES) ระหว่างปี 2003-2018 มาเปรียบเทียบกับข้อมูลการเสียชีวิตจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ตั้งแต่ปี 2003 ไปจนถึงธันวาคม 2019
ผลการวิเคราะห์ชี้ว่า:
- ผู้ที่กินอาหารทั้งหมดในเวลาไม่ถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน เสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงขึ้นถึง 91%
- ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นถูกพบเห็นในคนที่มีโรคหัวใจหรือมะเร็งอยู่แล้วด้วย
- สำหรับผู้มีปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือดอยู่แล้ว การกินอาหารในช่วงเวลา 8-10 ชั่วโมง/วัน ก็มีความเสี่ยงสูงขึ้น 66% ในการเสียชีวิตจากโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมอง
- การทำ TRE ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตด้วยสาเหตุอื่นๆ
- การกินอาหารในระยะเวลามากกว่า 16 ชั่วโมงต่อวัน ช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากมะเร็งในผู้ป่วยมะเร็ง
“เราเองก็ประหลาดใจที่พบว่าผู้ที่ทำ TRE 8 ชั่วโมง มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงขึ้น แม้ว่าการกินอาหารแบบนี้จะเคยเป็นที่นิยมเนื่องจากประโยชน์ในระยะสั้น แต่วิจัยของเราชี้ให้เห็นว่า การกินอาหารในกรอบเวลาน้อยกว่า 12-16 ชั่วโมงไม่ได้ช่วยให้ยืนยาวขึ้น” จง กล่าว
“สิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยต้องใส่ใจ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคหัวใจหรือมะเร็งอยู่แล้ว คือควรรับรู้ถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนี้ ผลการวิจัยสนับสนุนให้มีการแนะนำด้านการบริโภคอาหารที่เฉพาะบุคคลมากขึ้น โดยดูจากประวัติสุขภาพและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ล่าสุด” เขากล่าวเสริม “งานวิจัยของเราระบุถึงความเชื่อมโยงระหว่างการกินในกรอบ 8 ชั่วโมงและการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า TRE เป็นสาเหตุโดยตรงของการเสียชีวิตเหล่านั้น”
รายละเอียดและที่มาของงานวิจัย
- ศึกษาข้อมูลจากผู้ใหญ่ในสหรัฐฯราว 20,000 คน โดยมีช่วงอายุเฉลี่ย 49 ปี
- ติดตามอาสาสมัครเป็นเวลาเฉลี่ย 8 ปี และติดตามนานที่สุด 17 ปี
- ข้อมูลมาจากผู้เข้าร่วมโครงการสำรวจ NHANES ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไปในระหว่างปี 2003-2018 ที่ตอบแบบสอบถามเรื่องการบริโภคอาหาร 24 ชั่วโมงสองชุด ภายในหนึ่งปีแรกที่เข้าร่วมโครงการ
- ราวครึ่งหนึ่งของอาสาสมัครเป็นผู้ชาย และอีกครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิง โดย 73.3% ระบุเชื้อชาติว่าเป็นคนอเมริกันผิวขาวไม่ใช่ฮิสแปนิก 11% เป็นฮิสแปนิก ส่วนอีก 8% เป็นอเมริกันผิวดำไม่ใช่ฮิสแปนิก และอีก 6.9% เป็นเชื้อชาติอื่นๆ
- ข้อจำกัดของงานวิจัยนี้คือขึ้นอยู่กับข้อมูลการกินอาหารที่อาสาสมัครบอกเอง ซึ่งอาจมีความคลาดเคลื่อน และอาจไม่ได้สะท้อนรูปแบบการกินของแต่ละคนอย่างแม่นยำ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยด้านสุขภาพอื่นๆ นอกเหนือจากช่วงเวลาการกินและสาเหตุการเสียชีวิตที่ไม่ได้รวมในการวิเคราะห์
- นักวิจัยระบุว่า การศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในอนาคตควรตรวจสอบกลไกทางชีววิทยาที่อยู่เบื้องหลังความสัมพันธ์ระหว่าง TRE และปัญหาสุขภาพหัวใจ รวมถึงตรวจสอบดูว่าผลวิจัยดังกล่าวจะคล้ายคลึงกันไหมหากทำการทดลองในส่วนอื่นๆ ของโลก
สรุป
โดยรวม งานวิจัยนี้เสนอว่าการทำ Time-Restricted Eating อาจมีประโยชน์ในระยะสั้น แต่กลับมีผลเสียในระยะยาว รายละเอียดเพิ่มเติมของการวิเคราะห์จะน่าสนใจและเป็นประโยชน์อย่างมากเมื่อตีพิมพ์อย่างเต็มรูปแบบ” คริสโตเฟอร์ ดี การ์ดเนอร์ (Christopher D. Gardner) Ph.D, FAHA ศาสตราจารย์ Rehnborg Farquhar สาขาแพทยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และหัวหน้าทีมเขียนคำชี้แนะทางวิทยาศาสตร์ปี 2023 ของสมาคมโรคหัวใจฯ ในหัวข้อ “Popular Dietary Patterns: Alignment with American Heart Association 2021 Dietary Guidance”