ท้องเสีย เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน และทุกวัย แถมยังเกิดได้ในทุกฤดูกาลไม่ว่าจะช่วงอากาศร้อนหรืออากาศเย็น ส่วนมากมักเกิดในช่วงฤดูร้อนมากกว่าฤดูอื่น ๆ เพราะอากาศร้อนจะทำให้อาหารเสียง่าย ยิ่งถ้าไปกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาหารที่ไม่ได้สุขอนามัย จะมีโอกาสท้องเสียมากขึ้น มารู้จักอาการท้องเสีย และวิธีการปฏิบัติเบื้องต้นกัน
ท้องเสีย
ท้องร่วง บางคนอาจจะเรียกว่า ท้องเสีย ,ท้องเดิน หรืออุจจาระร่วง นั้น เป็นที่รู้จักของคนทั่ว ๆ ไปว่ามีอาการ เข้าออกห้องน้ำบ่อยขึ้นและเริ่มหมดแรง เพราะที่ถ่ายหลายรอบมีแต่อุจจาระออกมาเป็นน้ำเหม็นคาว หรือมีเศษอุจจาระเหลวปนเป็นจำนวนมาก ร่างกายจึงสูญเสียน้ำไปจำนวนมาก ทำให้อ่อนเพลีย เป็นหนึ่งในลักษณะของอาการกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ คือ การติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสบริเวณท้องหรือลำไส้ โดยทั่วไป อาการท้องเสียจะคงอยู่ ประมาณ 2 – 4 วัน และจะทุเลาจนหายขาดเอง
อาการท้องเสีย
อาการท้องเสียชนิดเฉียบพลัน
เวลามีอาการท้องเสีย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทดแทนน้ำที่สูญเสียไปกับการถ่ายอุจจาระ โดยเฉพาะท้องเสียชนิดเฉียบพลัน ซึ่งทำได้โดยการดื่มผงน้ำตาลเกลือแร่ (โออาร์เอส) ที่สามารถหาซื้อได้ตามท้อง ตลาดทั่ว ๆ ไป ละลายน้ำต้มสุกตามสัดส่วนที่ระบุไว้ในฉลาก ดื่มครั้งละน้อย ๆ (1/2 – 1 แก้ว) บ่อย ๆ ทดแทนน้ำ ที่ถ่ายออกมา ถ้าไม่มีผงน้ำตาลเกลือแร่สำเร็จรูปก็อาจ เตรียมเองได้ โดยใช้เกลือป่น 1 ช้อนชา กับน้ำตาลทราย ๒ ช้อนโต๊ะ ผสมในน้ำต้มสุก 1 ขวดน้ำปลา (ประมาณ 750 ซีซี)
บางคนเชื่อว่าเวลาท้องเสียควรงดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด เพื่อให้เกิดการหยุดถ่าย แต่ที่จริงแล้วคนที่มีอาการท้องเสียไม่ว่าจะเป็นชนิดเฉียบพลันหรือเรื้อรัง โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องอดอาหาร การไม่กินหรือดื่มอะไรเลย อาจทำให้ร่างกายขาดน้ำ เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ที่จริงแล้ว ควรกินอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย โดยเน้นอาหารที่มีข้าวหรือแป้งเป็นหลัก เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม น้ำซุป
ผู้ใหญ่ที่มีอาการท้องเสียชนิดเฉียบพลัน ควรงด ผัก ผลไม้ น้ำผลไม้ และไม่ควรดื่มนม จนกว่าอาการท้องเสียจะดีขึ้น เพราะอาหารเหล่านี้อาจทำให้เกิดการถ่ายท้องมากขึ้น ในเด็กเล็กที่มีอาการท้องเสียเฉียบพลัน ถ้าดื่มนมแม่อยู่ก็ให้ดื่มตามปกติ ถ้าดื่มนมขวดในระยะแรกที่ท้องเสีย (2 – 4 ชั่วโมงแรก) ให้ดื่มนมที่ผสมเจือจางลง (ลดนมผงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของที่เคย ผสม) จนกว่าอาการจะดีขึ้น จึงให้ดื่มนมผสมตามปกติได้
โดยทั่วไปท้องเสียชนิดเฉียบพลันที่ไม่รุนแรงมาก การทดแทนน้ำที่สูญเสียไป และการกินอาหารดังกล่าวข้างต้นจะทำให้อาการดีขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ และสามารถกลับไปกินอาหารปกติได้ หลังจากหยุดอาการท้องเสียแล้ว 1 วัน แต่ถ้ามีอาการดังต่อไปนี้ควรพบแพทย์ คืออาการถ่ายท้องจำนวนมากและบ่อย มีอาการไข้ ปวดท้องมากและอาเจียนร่วมด้วย อาการรุนแรงเช่นนี้ปล่อยไว้นานอาจจะมีอาการช็อกหมดสติได้
อาการท้องเสียชนิดเรื้อรัง
กรณีท้องเสียเรื้อรังที่มีสาเหตุจากธาตุอ่อน ควรเริ่มต้นจาก การสังเกตดูว่าอาหารประเภทใดเป็น สิ่งกระตุ้นที่ทำให้มีอาการท้องเดิน ก็ควรพยายามหลีกเลี่ยงอาหารประเภทนั้น ถ้าความเครียดทางอารมณ์เป็นสิ่งเร้าทำให้เกิดอาการท้องเสีย ก็ควรรู้จักการฝึกผ่อนคลายความเครียด และออกกำลังกายเป็นประจำ อาหารที่กระตุ้นทำให้เกิดการถ่ายท้องในแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกัน ดังนั้น การสังเกตตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญ การงดหรือหลีกเลี่ยงชนิดของอาหาร ควรทำกรณีที่จำเป็นที่พบว่ามีความสัมพันธ์กับอาการท้องเสียเท่านั้น เพื่อให้ร่างกายเรามีโอกาสได้รับชนิดอาหารที่หลากหลายมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
มีอาการนานกว่า 3 สัปดาห์ เกิดได้จากหลายสาเหตุ และยากต่อการวินิจฉัย หากเป็นบ่อย หรือเป็นต่อเนื่องเป็นเวลานาน ควรไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และเข้ารับรักษาต่อไป
ภาวะขาดน้ำ
ไม่ว่าจะเป็นท้องเสีย ชนิดไหน อาการที่สำคัญที่สุด (และอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้โดยเฉพาะในเด็ก) คือ อาการจากภาวะร่างกายขาดน้ำ และสูญเสียเกลือแร่ที่ออกกับอุจจาระ เมื่อผู้ป่วยท้องร่วงเกิดอาการขาดกน้ำ ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที
การขาดน้ำในผู้ใหญ่
- กระหายน้ำมาก
- ปัสสาวะน้อย ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้มจัด
- ปากแห้ง ลิ้นแห้ง ผิวแห้ง เมื่อเป็นมาก ตาจะลึกโหล เพราะเนื้อเยื่อรอบ ๆ ตาขาดน้ำ
- เมื่อมีอาการขาดน้ำอย่างรุนแรง จะวิงเวียน มึนงง กระสับกระส่าย และช็อกในที่สุด
การขาดน้ำในเด็ก
- ปาก และลิ้นแห้ง
- ไม่มีน้ำตาเวลาร้องไห้
- ไม่มีปัสสาวะมากกว่า 3 ชั่วโมง
- แก้มตอบ ท้องแฟบ ตากลวง กระหม่อมบุ๋มลึก
- ไข้สูง
- ร้องกวน ร้องโยเย
- ผิวแห้ง
ท้องเสียควรกินอะไร
โจ๊ก หรือ ข้าวต้ม
ควรเลือกรับประทานอาหารประเภทที่ย่อยง่าย อาจจะเพิ่มเติมเป็นหมูสับละเอียด ๆ เคี้ยวให้เยอะก็ถือว่าช่วยระบบย่อยให้ทำงานน้อยลงได้
ซุป
ไม่ว่าจะเป็นซุปอะไรก็ตามแต่ แค่ไม่รสจัด
กล้วย
กล้วยเป็นอาหารที่ย่อยง่าย อยู่ท้อง และอุดมไปด้วยโพแทสเซียมซึ่งสามารถบรรเทาความรุนแรงของอาการท้องเสียได้ แนะนำเป็นกล้วยน้ำว้า
น้ำเกลือแร่
จะช่วยให้ร่างกายเราไม่ขาดน้ำ ชดเชยของเหลวที่เสียไปภายในร่างกายเนื่องจากอาการท้องเสีย
คนท้องท้องเสียกินอะไรได้บ้าง
ข้าวหรือแป้ง
ผู้ป่วยสามารถทานข้าวได้ตามปกติ แต่อาจเปลี่ยนมารับประทานข้าวขาวแทนข้าวกล้อง เพื่อลดปริมาณใยอาหาร เนื่องจากใยอาหารจะช่วยกระตุ้นการเคลื่อนตัวของลำไส้ แต่ในภาวะที่ท้องเสีย ร่างกายไม่ต้องการให้ลำไส้เคลื่อนตัวมากจนเกินไป ดังนั้นจึงเว้นอาหารประเภทเส้นใยสูงไว้ชั่วระยะหนึ่ง ในส่วนของก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง (ไม่ใช้ขนมปังโฮลวีท) สามารถเลือกรับประทานได้ตามปกติ
เนื้อสัตว์
เนื้อสัตว์ทุกชนิดสามารถรับประทานได้ แต่หลีกเลี่ยงการนำมาปรุงอาหารรสจัดเกินไป เช่น ยำ ต้มยำ เพราะกรดซิตริกหรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวและมีความเผ็ด ก็สามารถกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ได้
ไขมัน
สามารถรับประทานได้ตามปริมาณไขมันที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน แต่ควรหลีกเลี่ยงกรดไขมันอิ่มตัว ได้แก่ พวกน้ำมันปาล์มและน้ำมันที่มาจากเนื้อสัตว์ รวมถึงอาหารประเภทแกงกะทิ เพราะไขมันดังกล่าวไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกาย
ผักและผลไม้
ควรหลีกเลี่ยงผักและผลไม้สดที่ยังไม่ผ่านความร้อน ก่อนการนำมาปรุงควรล้างผักให้สะอาด หลีกเลี่ยงการสัมผัสผักสดด้วยมือเปล่า เวลาจะทานผลไม้เปลือกหนา ห้ามใช้มือเปล่าหยิบเด็ดขาด เช่น ส้มโอ แตงโม พึงระวังไม่จัดอาหารประเภทผลไม้สดให้ผู้ป่วยที่ท้องเสียมากเกินไป เพราะอาจเป็นการเพิ่มเส้นใยอาหารให้ผู้ป่วยมากขึ้น น้ำผลไม้ทุกชนิดควรงดเว้นโดยเฉพาะน้ำลูกพรุน เพราะจะทำให้ถ่ายท้องมากยิ่งขึ้น หากจะรับประทานน้ำผลไม้ควรเป็นน้ำที่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์แล้ว และไม่แนะนำให้รับประทานในช่วงที่อาการท้องเสียยังไม่ทุเลา
วิธีแก้ท้องเสีย
- ดื่มน้ำเกลือแร่ (ORS) บ่อย ๆ เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำและเกลือแร่
- รับประทานอาหารอ่อน ๆ ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แกงจืด
- งดอาหารรสจัด เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของหมักดองต่างๆ
- หลีกเลี่ยงอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เน้นการรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ถูกสุขลักษณะ
- ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำก่อนรับประทานอาหาร
- หากสงสัยว่ามีอาจติดเชื้อ ควรรีบพบแพทย์ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง
คุณควรไปพบแพทย์เมื่อใด
- เมื่อท้องเสียติดต่อกันมากกว่า 2 – 3 วัน
- เมื่อร่างกายเกิดอาการขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง กระหายน้ำ ปัสสาวะมีสีเข้ม อ่อนเพลีย หน้ามืด เวียนศีรษะ
- เมื่ออุจจาระมีเลือดปนหรือออกสีดำ
- มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
- มีอาการปวดท้องมาก หรือปวดบริเวณทวารหนัก
สมุนไพรแก้ท้องเสีย
กระชาย
ถ้ามีกระชายให้ใช้เหง้าสด 1 – 2 เหง้า นำไปปิ้งไฟแล้วเอามาตำหรือฝนกับน้ำปูนใส หรือจะคั้นน้ำกระชายที่ปิ้งแล้วมารับประทานครั้งละ 1 – 2 ช้อนชา เมื่อมีอาการท้องเสียก็ได้
ฟ้าทะลายโจร
ล้างใบฟ้าทะลายโจรให้สะอาด จากนั้นนำไปผึ่งลมจนแห้งสนิท แล้วจงนำมาบดเป็นผงปั้นกับน้ำผึ้ง กินเป็นยาลูกกลอนครั้งละ 1.5 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน แต่หากไม่ได้ปลูกฟ้าทะลายโจรไว้ที่บ้าน ก็สามารถหาซื้อสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในรูปแบบแคปซูลยาก็จะสะดวกกว่า โดยรับประทานครั้งละ 1 – 2 แคปซูล (500 – 1,000 มิลลิกรัม) วันละ 4 ครั้งหลังอาหารและก่อนนอน
ยาเหลืองปิดสมุทร
นอกจากแคปซูลฟ้าทะลายโจรแล้ว ยังมีตัวยาเหลืองปิดสมุทร ซึ่งเป็นตำรับยาแผนโบราณและเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ประกอบไปด้วยตัวยาสมุนไพร 13 ชนิด มีสรรพคุณช่วยรักษาโรคในกลุ่มอาการระบบทางเดินอาหาร แก้ท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ (ท้องเสียแบบไม่มีมูกเลือดปน และไม่มีไข้) โดยวิธีใช้ในเด็กอายุ 6 – 12 ปี ให้รับประทานครั้งละ 1 – 2 แคปซูล (800 – 1,000 มิลลิกรัม) ทุก 3 – 5 ชั่วโมง ส่วนผู้ใหญ่รับประทานครั้งละ 2 แคปซูล (1,000 มิลิกรัม ทุก 3 – 5 ชั่วโมง เพื่อบรรเทาอาการท้องเสีย
ยาธาตุบรรจบ
ยาธาตุบรรจบก็เป็นตำรับยาพื้นบ้านแผนโบราณที่เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติเช่นกัน สามารถหาซื้อในรูปแบบแคปซูลยาสำเร็จรูป รับประทานง่าย และสะดวก โดยใช้รับประทานครั้งละ 1 แคปซูลในเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี ในผู้ใหญ่รับประทานครั้งละ 2 แคปซูลวันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร ยาธาตุบรรจบจะช่วยแก้ท้องเดิน แก้ท้องเสียที่ไม่มีมูกเลือดปนได้