สุขภาพ

นอนกรน (Snoring) มาทำความเข้าใจกัน พร้อมวิธีแก้นอนกรน

นอนกรนเป็นภาวะหนึ่งของร่างกายที่จะเกิดขึ้นขณะเราหลับ นอนกรน เกิดจากความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจส่วนบน มาทำความรู้จักและวิธีแก้การนอนกรนกัน

Advertisement

นอนกรน (Snoring)

การนอนกรนเกิดจากระบบทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบ กล่าวคือในขณะที่คนเรานอนหลับสนิทนั้น กล้ามเนื้อต่าง ๆ ในช่องปากจะผ่อนคลายและหย่อนลงมาปิดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้ลมหายใจไม่สามารถผ่านไปยังหลอดลมและปอดได้อย่างสะดวก ส่งผลให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ และเนื่องจากช่องลมถูกปิดกั้นจนเล็กลงจึงทำให้เกิดเป็นเสียงกรนขึ้น

สาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดการแคบลงหรืออุดตันของทางเดินหายใจ เช่น ต่อมทอนซิลโต ผู้ป่วยที่อ้วนมากอาจมีเนื้อเยื่อผนังคอที่มาก ผู้ป่วยมีลิ้นโต การมีเนื้องอกหรือถุงน้ำของระบบทางเดินหายใจส่วนบน อาการนอนกรนจึงเป็นสัญญาณว่าผู้ป่วยอาจมีความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ

นอนกรน โรคหยุดหายใจขณะหลับ
Image by Olichel Adamovich from Pixabay

หยุดหายใจขณะหลับ

คาดว่าพบในประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 ของผู้ชายหรือร้อยละ 2 ของผู้หญิงวัยทำงาน และพบได้มากกว่าในผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ยังพบได้ประมาณร้อยละ 1 ของเด็กก่อนวัยเรียนและช่วงประถม

Advertisement

อาการของคนนอนกรน

อาการนอนกรนเกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการ

  • น้ำหนักเกิน พบว่าผู้ที่มีน้ำหนักมากจะมีทางเดินหายใจส่วนบนแคบกว่าผู้ที่มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • มีอาการของโรคภูมิแพ้บริเวณจมูก
  • มีสันจมูกเบี้ยวหรือคด รูปหน้าหรือคางผิดปกติ เช่น คางเล็ก คางหลุบ
  • ต่อมทอนซิลโตขวางทางเดินหายใจ
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่เป็นประจำ
  • การรับประทานยาที่ทำให้เกิดอาการง่วง เช่น ยาแก้แพ้ ยานอนหลับ ยาคลายเครียด
  • ผู้ชายมีโอกาสนอนกรนมากกว่าผู้หญิง 6-10 เท่า
  • ผู้หญิงจะมีอาการนอนกรนเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าวัยหมดประจำเดือน

อาการที่บ่งบอกว่าอาจเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับ

  • นอนกรนดังมากเป็นประจำ จนเกิดความรำคาญต่อผู้ที่นอนร่วมด้วย
  • รู้สึกนอนหลับไม่เต็มอิ่ม ตื่นบ่อย มีอาการไม่สดชื่น
  • คอแห้ง
  • ปวดศีรษะเป็นประจำตอนเช้า
  • ง่วงนอนมากผิดปกติในระหว่างวัน
  • หงุดหงิดง่าย อารมณ์ไม่ดี
  • มีโรคประจำตัวร่วมด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ
  • มีผู้อื่นสังเกตเห็นว่าหายใจไม่สม่ำเสมอและมีเสียงกรนดังแต่หยุดเป็นช่วง ๆ
นอนกรน นอนกรนอันตรายไหม
Image by tvjoern from Pixabay

นอนกรนอันตรายไหม

ความรุนแรงของการนอนกรน แบ่งได้ 3 ระดับ ดังนี้

  • ความรุนแรงระดับหนึ่ง คือ การนอนกรนทั่วไป ไม่บ่อย และมีเสียงไม่ดังมาก การนอนกรนในระดับนี้ยังไม่ส่งผลต่อการหายใจในขณะนอนหลับ แต่อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของบุคคลที่นอนข้าง ๆ
  • ความรุนแรงระดับสอง คือ การนอนกรนที่เกิดขึ้นบ่อย หรือมากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ การนอนกรนในระดับนี้อาจส่งผลต่อการหายใจในระดับน้อยถึงปานกลางในขณะนอนหลับ และส่งผลให้รู้สึกง่วงและเหนื่อยในเวลากลางวัน
  • ความรุนแรงระดับสาม คือ การนอนกรนเป็นประจำทุกวันและมีเสียงดัง การนอนกรนในระดับนี้มักเกิดภาวะหยุดหายในขณะหลับร่วมด้วย อาจทำให้ทางเดินหายใจถูกปิดกั้นบางส่วนหรือทั้งหมดเป็นเวลาประมาณ 10 วินาที ส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอและส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
วิธีแก้อาการนอนกรนด้วยตัวเอง
Image by 5132824 from Pixabay

วิธีแก้นอนกรนด้วยตัวเอง

  1. ควบคุมน้ำหนัก

    ความอ้วนเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งของอาการ นอนกรน เพราะไขมันที่สะสมบริเวณช่องทางเดินหายใจบริเวณคอ ถูกเบียดให้เล็กลง รวมทั้งไขมันที่หน้าอกและท้องก็ยังเป็นภาระให้ร่างกายต้องหายใจหนักขึ้น และใช้พลังงานในการหายใจมากขึ้น

  2. ออกกำลังกาย

    เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อที่ดึงรั้งช่องทางเดินหายใจมีความแข็งแรงขึ้น ขณะที่นอนหลับเนื้อเยื่อภายในปากจะได้ไม่หย่อนลงมาจนขัดขวางช่องทางเดินหายใจ

  3. จัดท่านอน

    พยายามจัดท่านอน เพื่อป้องกันการหายใจทางปาก โดยการนอนตะแคงงอข้อศอก เพื่อให้มือข้างหนึ่งยันคางไว้เป็นการปิดปาก หรืออาจใช้หมอนหนุนหลังเอาไว้เพื่อป้องกันไม่ให้พลิกมานอนหงาย อาจฝึกด้วยการนอนในที่แคบ ๆ จนเคยชินก็ได้ หรือจะลองใช้ลูกเทนนิสสอดไว้ในเสื้อนอนด้านหลัง ความไม่สบายนี้จะช่วยเตือนให้คุณหลับในท่าตะแคงได้โดยตลอด

  4. ยกศีรษะให้สูงขึ้น

    ถ้านอนตะแคงไม่ได้จริง ๆ ให้นอนหงายแล้วใช้หมอนเล็ก ๆ หนุนที่บริเวณหลังคอด้านบน ยกศีรษะให้สูงจากเตียง เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ้นหย่อนลงไปในลำคอจนเกิดเสียงกรนได้

  5. รักษาที่นอนให้สะอาด

    พยายามกำจัดปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเกิดหอบหืด ภูมิแพ้ อันเป็นสาเหตุหนึ่งของการกรน เช่น ไรฝุ่น ขนสัตว์

  6. พยายามอย่าให้มีขี้มูกก่อนนอน

    จะช่วยให้ช่องจมูกเปิดโล่ง ลมเข้าออกได้อย่างสะดวก

  7. เพิ่มระดับความชื้นในห้องนอน

    เพราะการนอนในห้องที่มีความชื้นต่ำมาก อากาศภายในห้องจะแห้ง ทำให้เยื่อบุต่าง ๆ ในระบบทางเดินหายใจพลอยแห้งตามไปด้วย บางรายอาจเกิดอาการบวมและทางเดินหายใจตีบแคบลง จนเกิดอาการนอนกรนในที่สุด

ควบคุมการกิน

  1. ไม่ควรกินอาหารก่อนนอนเยอะเกินไป และควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารหนัก ๆ ในช่วง 3 ชั่วโมงก่อนนอน เป็นไปได้ควรกินอาหารเบา ๆ จำพวกซุปร้อน ๆ เช่น ซุปมิโซะ ซุปฟักทอง ซุปข้าวโพด หรือกล้วยน้ำว้าสัก 1-2 ผล
  2. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาที่มีฤทธิ์ที่ทำให้ง่วงซึม โดยทั่วไปแล้วเมื่อเกิดภาวะขาดออกซิเจน สมองและกล้ามเนื้อต่าง ๆ จะสั่งงานให้ร่างกายตื่นขึ้น แต่ถ้าหากถูกกดเอาไว้ด้วยแอลกอฮอล์หรือยาที่มีฤทธิ์กดประสาท จะทำให้สมองตื่นช้า และอาจตอบสนองต่อภาวะขาดออกซิเจนไม่ทัน จนอาจเสียชีวิตได้
  3. ดื่มเครื่องดื่มอุ่น ๆ ก่อนนอน การนอนกรนส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะนอนหลับไม่สนิท ดังนั้นเพื่อการนอนหลับสนิทจนถึงเช้า ลองดื่มนม น้ำผึ้งผสมน้ำอุ่น หรือน้ำสมุนไพรอุ่น ๆ สักแก้วดูนะคะ น่าจะช่วยลดปัญหาได้

ลดอาการกรนด้วยสมุนไพร

  1. หอมแดงแก่จัด นอกจากจะมีสรรพคุณแก้หวัด คัดจมูก ลดไขมันอุดตันในหลอดเลือดแล้ว กลิ่นฉุนของหอมแดงยังช่วยให้เกิดความชุ่มชื้นในลำคอ และช่วยให้ระบบหายใจทำงานได้ดีขึ้น จะเอามาดม หรือประกอบอาหารก็ได้ค่ะ กินทุกวันอย่างน้อยสองเดือน และถ้าจะให้ได้ผลดีต้องกินสด ๆ เช่น กินกับเมี่ยง ทำเป็นผักจิ้มน้ำพริก เป็นต้น
  2. พริกขี้หนู รสเผ็ดของพริกจะช่วยให้ทางเดินหายใจโล่ง และเกิดความชุ่มชื่นในลำคอ สารแคปไซซินช่วยลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อรอบหลอดลม พริกจึงมีประโยชน์ต่อคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ สามารถนำพริกขี้หนูไปประกอบอาหาร เช่น แกง ต้มยำ หรือต้มโคล้ง จะช่วยให้ระบบหายใจทำงานสะดวกขึ้น ปัญหาการกรนอาจลดลงได้ค่ะ
  3. ขิง ใช้เหง้าขิงแก่สดขนาดเท่าหัวแม่มือ หรือประมาณ 5 กรัม ทุบให้แตก ต้มเอาน้ำดื่ม จะช่วยให้สดชื่น ระบบทางเดินหายใจทำงานสะดวกขึ้น
  4. ใบแมงลัก มีฤทธิ์แก้หวัด และหลอดลมอักเสบ นำใบไปประกอบอาหาร จะช่วยให้ระบบหายใจทำงานดีขึ้น
วิธีแก้อาการนอนกรนด้วยแพทย์
เครื่องเป่าความดันลมเพื่อเปิดขยายทางเดินทายใจ (CPAP)

วิธีแก้อาการนอนกรนด้วยแพทย์

เบื้องต้นแพทย์จะแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สำหรับผู้ที่นอนกรนในระดับที่ไม่รุนแรง เช่น ลดน้ำหนัก หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะในช่วงเวลาก่อนเข้านอน เปลี่ยนท่านอนจากนอนหงายเป็นนอนตะแคง เป็นต้น ส่วนผู้ที่นอนกรนในระดับรุนแรงหรือมีสาเหตุการกรนมาจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ แพทย์อาจมีแนวทางในการรักษาดังต่อไปนี้

ใช้อุปกรณ์ช่วยลดการนอนกรน

  • อุปกรณ์ช่วยลดกรนทางจมูก เพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่ทางเดินหายใจในจมูก เช่น แผ่นแปะจมูก (Nasal Strip) มีลักษณะเป็นเทปกาวขนาดเล็กแปะที่บริเวณปีกจมูกทั้งสองข้าง
  • อุปกรณ์ช่วยลดกรนทางปาก เช่น แผ่นแปะคาง (Chin Strip) มีลักษณะเป็นแผ่นหรือเทปแปะที่บริเวณใต้คางเพื่อป้องกันการอ้าปากในขณะนอนหลับ เป็นต้น
  • เครื่องช่วยจัดตำแหน่งของขากรรไกรล่าง (Mandibular Advancement Device: MAD) จะช่วยเพิ่มพื้นที่หลังของลำคอและป้องกันการตีบแคบของทางเดินหายใจซึ่งจะทำให้ลิ้นสั่นในขณะหายใจและเกิดเสียงกรนได้
  • เครื่องเป่าความดันลมเพื่อเปิดขยายทางเดินทายใจ (Continuous Positive Airway Pressure: CPAP) เป็นการรักษาที่ได้ประสิทธิผลดีที่สุดวิธีหนึ่งในการรักษา ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea Syndrome, OSAS) โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีอาการในระดับปานกลาง ถึง รุนแรง

ผ่าตัด

การผ่าตัดจะใช้ในกรณีที่ไม่สามารถบรรเทาการนอนกรนได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือการใช้อุปกรณ์ช่วยลดการ นอนกรนได้ เช่น

  • การผ่าตัดกระชับเนื้อเยื่อบริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ และผนังคอหอย (Uvulopalatopharyngoplasty: UPPP) ในบางกรณีอาจมีการผ่าตัดต่อมทอนซิลและต่อมแอดีนอยด์ร่วมด้วย อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการพูดไม่ชัดหลังการผ่าตัด หรือเกิดผลข้างเคียงรุนแรงอย่างอื่นที่อาจเกิดขึ้นได้ประมาณ 1% เช่น เลือดออกมาก ปอดติดเชื้อ หัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดในสมอง เป็นต้น
  • การผ่าตัดตกแต่งเนื้อเยื่อบริเวณเพดานอ่อนและลิ้นไก่โดยใช้เลเซอร์ (Laser-Assisted Uvulopalatoplasty: LAUP) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งแต่ในระยะยาวอาจให้ผลลัพธ์ได้ไม่ดีเท่าการผ่าตัดกระชับเนื้อเยื่อบริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ และผนังคอหอย
  • การผ่าตัดเพดานอ่อน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้เนื้อเยื่อและลดการสั่นของเพดานอ่อนในขณะนอนหลับ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การผ่าตัดด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency Ablation: RFA) ด้วยการใช้คลื่นวิทยุทำให้เนื้อเยื่อแข็งแรงขึ้น หรือการฝังพิลลาร์ (Pillar Procedure) โดยฉีดเส้นใยสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์ที่เพดานอ่อน

ใช้ยา

ใช้ยาเพื่อรักษาที่ต้นเหตุของการนอนกรน เช่น ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine) ในการบรรเทาอาการบวมและระคายเคืองในจมูกของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือยาแก้คัดจมูก (Nasal Decongestant) แต่ไม่ควรใช้ต่อเนื่องนานเกิน 7 วัน เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงได้

Advertisement

Advertisement

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button