ในซูเปอร์มาร์เก็ต โซนขายชามักไม่ต่างอะไรกับร้านขายยา กล่องต่างๆ ล้วนอวดอ้างสรรพคุณมากมาย แม้กระทั่งชาเขียวที่เราคุ้นเคยก็ยังช่วยบำรุงสุขภาพได้…จริงหรือ? นี่ยังไม่นับรวมชาที่โฆษณาทั่วโซเชียลว่าช่วยลดพุงหรือเพิ่มพลัง มีบ้างไหมที่ทำได้จริง?
เนื่องจากชาแต่ละประเภทมีคุณสมบัติหลากหลาย เราจะมาเจาะลึกกันทีละชนิด เช่นเดียวกับยาแผนโบราณ เราคงคาดหวังผลลัพธ์แบบปาฏิหาริย์ไม่ได้ แต่บางชนิดก็มีประโยชน์ที่พิสูจน์ได้ และข้อควรระวังเช่นกัน
ชาสมุนไพร
ผู้เชี่ยวชาญมองว่าชาสมุนไพรไม่ใช่ “ชา” ในความหมายดั้งเดิม เพราะไม่ได้มาจากต้นชา หากแต่เป็นส่วนต่างๆ ของพืชที่แช่ในน้ำร้อนเพื่อดื่ม เช่น ชาคาโมมายล์ที่ทำจากดอกคาโมมายล์ ชาสมุนไพรส่วนใหญ่ปราศจากคาเฟอีน
พืชแต่ละชนิดที่ใช้ทำชาสมุนไพรมีทั้งประโยชน์และข้อเสียเฉพาะตัว ดังนั้นหากคุณต้องการสรรพคุณใดๆ ควรศึกษารายละเอียดให้ดีว่าผลวิจัยรองรับประสิทธิภาพหรือไม่ รวมไปถึงผลข้างเคียงและข้อห้ามต่างๆ
ผลการวิเคราะห์งานวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของชาสมุนไพร พบว่ายังมีการศึกษาอย่างจริงจังในวงจำกัด โดยมีการทดลองในประเด็นเช่น สุขภาพของมารดา (รวมถึงการให้นมบุตร) โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และสุขภาพจิต ทว่ามีเพียงงานวิจัยเดียวที่ศึกษาผลของชาต่ออาการหวัด และไม่มีแม้แต่งานวิจัยเดียวที่ศึกษาเกี่ยวกับชาขมิ้น ชาผลไม้ หรือชาเบอร์รี่ ทั้งๆ ที่สารสกัดจากส่วนประกอบเหล่านี้มีการศึกษาในรูปแบบอื่น
นอกจากนั้นยังพบว่างานวิจัยส่วนใหญ่ไม่ได้กล่าวถึงผลข้างเคียงแต่อย่างใด แม้ว่าการเตรียมชาสมุนไพรอาจมีความเสี่ยงน้อยกว่าผลิตภัณฑ์รูปแบบอื่น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ศูนย์ควบคุมสารพิษได้ระบุว่าชาโสม ชาดิจิตัลลิส (foxglove) และชาอาร์นิกามีความเกี่ยวข้องกับปัญหาด้านสุขภาพ โดยเตือนว่าเราไม่ควรทำชาสมุนไพรขึ้นเอง รวมถึงไม่ควรให้ทารกดื่ม
ท้ายที่สุด การขาดข้อมูลทำให้เราเดาทางได้ยากว่าควรดื่มชาสมุนไพรอย่างใด ในปริมาณแค่ไหนจึงจะได้ผล ปัญหาของการแพทย์แผนโบราณรวมถึงชาสมุนไพร คือควบคุมปริมาณสารออกฤทธิ์ได้ยาก ต่างจากยารักษาโรคที่มีความแม่นยำสูง เพื่อให้ทั้งแพทย์และผู้ป่วยคาดการณ์ผลลัพธ์ได้อย่างชัดเจน ส่วนชาสมุนไพรนั้นขึ้นอยู่กับว่าแต่ละส่วนของพืชมีความเข้มข้นของสารออกฤทธิ์ต่างกัน รวมถึงปัจจัยด้านแหล่งปลูกและฤดูกาลเก็บเกี่ยวด้วย ยิ่งกว่านั้น เรายังไม่อาจรู้ได้ว่าปริมาณสารออกฤทธิ์ถูกสกัดออกมาในน้ำชาที่เราดื่มมากน้อยแค่ไหน
ชาที่กำลังเป็นกระแส
มาต่อกันที่เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของชาหรือคล้ายชา ซึ่งเหล่าอินฟลูเอนเซอร์และนักขายตรงโฆษณาอย่างครึกโครม
ชาประเภทแรกคือชาลดน้ำหนักหรือปรับรูปร่าง บางชนิดเป็นเพียงชาธรรมดาที่มีการโหมประชาสัมพันธ์ แต่ส่วนมากจะผสมสารระบาย ตัวอย่างเช่น ชาที่มีส่วนผสมของ “ผู่เอ๋อร์” ชาเขียว และขิง
สารประเภทนี้เพียงทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ จึงเป็นเพียงน้ำหนักที่ลดชั่วคราว แต่ไม่ได้ช่วยเผาผลาญไขมันอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ ผลข้างเคียงคือภาวะขาดน้ำ ความไม่สมดุลของเกลือแร่ และในกรณีรุนแรงอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ
ส่วนอีกประเภทคือ “ชาเพิ่มพลัง” ซึ่งคล้ายกับเครื่องดื่มชูกำลังมากกว่าชาสมุนไพรหรือชาเขียวที่เราคุ้นเคย ส่วนผสมอาจแตกต่างกันไป บางชนิดมีแคลอรี่ต่ำ บางชนิดมีน้ำเชื่อมข้าวโพด บางชนิดมีสารกระตุ้นจากธรรมชาติ หรือวิตามินบางชนิดอย่างไนอาซินที่ออกฤทธิ์ทำให้ผิวรู้สึกซ่าๆ แม้จะมีหรือไม่มีส่วนผสมของชา บทความของ U.S. Pharmacist เตือนว่าปริมาณคาเฟอีนนั้นสูงเกินกว่าที่เด็กและวัยรุ่นจะรับไหว
ชาเขียวและชา “แท้” อื่นๆ
ชาที่ทำจากต้นชา (Camellia sinensis) ได้แก่ ชาเขียว ชาดำ ชาขาว และชาอู่หลง ชาเหล่านี้มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ดื่มกันทั่วโลก และมีงานวิจัยรองรับมากกว่าชาสมุนไพร
เราค่อนข้างเข้าใจประโยชน์และข้อเสียด้านต่างๆ ได้ดีขึ้น แต่ก็ยังไม่มีงานวิจัยที่ฟันธงได้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น สารต้านอนุมูลอิสระ “อาจ” ช่วยป้องกันโรคภัย และการศึกษาหลายชิ้นพบว่าผู้ที่ดื่มชาเป็นประจำมีแนวโน้มสุขภาพดีกว่าคนที่ไม่ดื่ม แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงการสังเกตการณ์ พฤติกรรมการดูแลสุขภาพด้านอื่นๆ ของผู้ที่ดื่มชาอาจมีส่วนอย่างมากในผลลัพธ์เหล่านี้
นอกจากนั้น ชายังมีคาเฟอีน ซึ่งส่งผลต่อความตื่นตัวและการมีสมาธิ (อาจเป็นผลดี) แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้หลับยาก (อาจเป็นผลเสีย) องค์กร National Institutes of Health รายงานว่าการวิจัยชี้ให้เห็นว่าชาอาจมีส่วนช่วยป้องกันโรคหัวใจได้บ้าง แต่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะรองรับว่าช่วยลดน้ำหนัก หรือประโยชน์ด้านอื่นๆ
สรุป
หากคุณกำลังมองหาทางลัดสู่สุขภาพดีหรือการลดน้ำหนักอย่างยั่งยืน ชาน่าจะไม่ใช่คำตอบ แต่หากต้องการเครื่องดื่มรสชาติดี ช่วยให้ร่างกายสดชื่น และ “อาจ” มีส่วนต่อต้านโรคภัยบางประเภท ชาเขียวหรือชาดำก็เป็นตัวเลือกที่ไม่เลวเลยทีเดียว