โรคไบโพลาร์ (Bipolar disorder) เป็นโรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ มีอารมณ์สองขั้วที่เปลี่ยนแปลงไปมาอย่างชัดเจน แบบที่หนึ่งคือมีพฤติกรรมแบบเศร้า และแบบที่สองมีอาการพลุ่งพล่าน หรือเรียกว่าแบบแมเนีย อารมณ์ของผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นช่วง ๆ ไป อาจมีอาการแบบแรกคือแบบเศร้าก่อน แล้วสักพักก็จะมีอาการแมเนีย บางคนอาจมีอาการแบบแมเนียก่อน แล้วจึงมีอาการแบบเศร้าขึ้นมา หรืออาจจะสลับกับอาการปกติต่อเนื่องกันไป
สาเหตุของโรคไบโพลาร์
ปัจจุบันเชื่อว่าสาเหตุของความผิดปกติทางอารมณ์นั้นมีได้หลายสาเหตุ
- ปัจจัยทางชีวภาพ ได้แก่ ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ความผิดปกติของระบบฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกาย การนอนหลับที่ผิดปกติ ความผิดปกติของการทำงานในส่วนต่าง ๆ ของสมองที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์
- ปัจจัยทางจิตสังคม เช่น การไม่สามารถปรับตัวเข้ากับความเครียดหรือปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตได้ ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ขึ้นมาได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยทางสังคมไม่ใช่สาเหตุของโรค แต่อาจเป็นตัวกระตุ้นให้โรคแสดงอาการได้
- ปัจจัยทางพันธุศาสตร์ ขณะนี้ยังไม่ทราบรูปแบบของการถ่ายทอดผ่านยีนที่ชัดเจนของโรค แต่จากการศึกษาพบว่าสามารถพบโรคนี้ได้บ่อยขึ้นในครอบครัวที่มีผู้ป่วยเป็นไบโพลาร์มากกว่าในประชากรทั่วไป
อาการของโรคไบโพลาร์
Bipolar disorder อาจแบ่งกลุ่มกว้าง ๆ ออกได้เป็น 2 กลุ่ม
- Bipolar I disorder คือ มีอาการแมเนียสลับกับช่วงซึมเศร้า หรืออาจมีอาการแมเนียเพียงอย่างเดียวก็ได้
- Bipolar II disorder คือ มีอาการซึมเศร้าสลับกับช่วงไฮโปแมเนีย (hypomania)
ผู้ป่วยโรคไบโพล่าร์จะมีภาวะซึมเศร้าเกิดขึ้นบ่อยกว่าภาวะแมเนียเกือบ 3 เท่า อาการที่พบบ่อย ในภาวะอารมณ์ 2 แบบ
ภาวะซึมเศร้าหรืออารมณ์ตก
- ขาดความร่างเริงไม่สนุกสนานเหมือนเก่า
- เบื่อหน่ายอยู่ตลอดเวลา
- อารมณ์เศร้า หรือร้องไห้ง่ายโดยไม่มีเหตุชัดเจน
- ความอยากอาหารและการนอนลดลง หมดเรี่ยวแรงในการทำงาน อ่อนเพลียตลอดเวลา
- หงุดหงิด โกรธง่ายกว่าปกติ
- มองโลกในแง่ร้ายไปหมด
- ขาดสมาธิ ความจำลดลง
- หมกหมุ่น คิดวนเวียนเรื่องเดิม ไม่สามารถตัดสินใจได้
- ไม่อยากสังสรรค์ หรือออกสังคม
- มีอาการปวดที่ไม่ทราบสาเหตุ
- มองตนเองว่าไร้ค่า หรือเป็นภาระ ไม่รู้จะมีชีวิตต่อไปทำไม
- มีความคิดทำร้ายตนเอง หรืออยากฆ่าตัวตายบ่อย ๆ
ภาวะแมเนียหรืออารมณ์คลุ้มคลั่ง
- มีพลังมากขึ้นกว่าปกติ
- มีการแสดงออกและการคิดอ่านมากกว่าปกติ
- มีความเข้มของอารมณ์มากขึ้น ทั้งอารมณ์แบบ สนุกสนาน ร่าเริง และก้าวร้าว โดยเฉพาะเมื่อถูกขัดใจ
- ความเชื่อมั่นตนเองมากขึ้น เชื่อว่าตนเองเก่งสามารถ ควบคุมทุกสิ่ง ทุกอย่างได้ และชอบวิจารณ์ผู้อื่น มากขึ้น เอาแต่ใจ
- มีอาการหลงผิดถึงความยิ่งใหญ่ หรือความเก่งของตนเอง
- ความต้องการในการนอนลดลง แต่ไม่อ่อนเพลีย
- ความคิดว่องไวเหมือนรถด่วน แสดงออกด้วยการพูดเร็ว และมีเนื้อหามาก เสียงดัง
- ขาดความจดจ่อต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นาน ๆ
- ขยันทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างขาดความยั้งคิดหรือ มีพฤติกรรมเสี่ยงมากขึ้นหรือแสดงออกแบบเกินตัว
- มีความต้องการทางเพศสูงขึ้น
การรักษาโรคไบโพลาร์
1. การใช้ยา
โดยมากจะเป็นยาที่ช่วยปรับอารมณ์ให้คงที่ และอาจใช้ยาต้านอาการทางจิตและยาต้านเสร้าร่วมด้วย
- ยาช่วยปรับให้อารมณ์คงที่ ได้แก่ Lithium
- ยาต้านอาการทางจิต ได้แก่ Olanzapine , Aripiprazole , Risperidone , Clozapine
- ยาต้านเศร้า ได้แก่ Fluoxetine , Paroxetine , Sertraline
โรคนี้มีอัตราการเป็นซ้ำสูงมากถึง 90% ฉะนั้นโดยทั่วไปหลังจากหายแล้ว แพทย์มักแนะนำให้กินยาต่ออย่างน้อย 1 ปี เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ หรืออาจนานกว่านี้ ทั้งนี้ขึ้นกับจำนวนครั้งที่เคยเป็นและความรุนแรงในครั้งก่อน ๆ ยาไม่ได้ทำให้สมองเสื่อมลงแต่การป่วยซ้ำหลาย ๆ ครั้งทำให้สมองแย่ลงได้
2. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
- ดูแลสุขภาพทั่วไป เช่น ออกกำลังกาย มีกิจกรรมที่ช่วยคลายเครียด หลีกเลี่ยงสุรา สารเสพติด
- กินยาตามแพทย์สั่ง ถ้ามีปัญหาผลข้างเคียงจากยา ควรปรึกษาแพทย์ก่อน ไม่ควรหยุดยาเอง
- หมั่นสังเกตอารมณ์ของตน เรียนรู้อาการแรกเริ่มของโรค และรีบไปพบแพทย์ก่อนจะมีอาการรุนแรงมากขึ้น
- บอกคนใกล้ชิดถึงอาการเริ่มแรกของโรค ให้ช่วยสังเกตและพาไปพบแพทย์
3. การดูแลจากญาติหรือจากบุคคลใกล้ชิด
- เข้าใจว่าอารมณ์และพฤติกรรมที่ผิดปกติเป็นการเจ็บป่วย ไม่ใช่นิสัยของผู้ป่วย
- ช่วยดูแลให้ผู้ป่วยกินยา และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์
- สังเกตอารมณ์ของผู้ป่วย เรียนรู้อาการเริ่มแรกของโรค และรีบพาไปพบแพทย์
- ก่อนที่จะมีอาการกำเริบรุนแรง
- ช่วยควบคุมการใช้จ่ายและพฤติกรรมที่เสี่ยงต่ออันตราย ถ้าเห็นว่าผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการอีก
- เมื่อผู้ป่วยหายจากอาการ ให้กำลังใจในการกลับไปเรียนหรือทำงาน และไม่หยุดยาก่อนปรึกษาแพทย์
โรคไบโพลาร์รักษานานแค่ไหน
ในการรักษาผู้ป่วย โรคไบโพลาร์ หรือ โรคอารมณ์สองขั้ว แบ่งการรักษาออกเป็นระยะต่าง ๆ คือ
- การรักษาระยะเฉียบพลัน เป็นการรักษาเพื่อลดอาการของผู้ป่วย และควบคุมอาการของผู้ป่วยให้ดีขึ้นโดยเร็วที่สุด ซึ่งมักอยู่ในช่วง 3-8 สัปดาห์หลังจากที่ผู้ป่วยเริ่มการรักษา
- การรักษาระยะต่อเนื่อง หลังจากที่อาการดีขึ้นแล้ว ผู้ป่วยบางรายอาจจะยังหลงเหลืออาการบ้าง โดยในระยะนี้จะเป็นการให้ยาเดิม ที่ผู้ป่วยได้รับในระยะเฉียบพลันต่อ หรือแพทย์อาจปรับลดขนาดยาลงเพื่อลดผลข้างเคียงของยา แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมอาการของผู้ป่วยได้ ระยะเวลาอยู่ในช่วงนี้นาน 2 – 6 เดือน เป้าหมายของการรักษาในระยะนี้คือ ต้องการให้ให้ผู้ป่วยหายขาด และป้องกันการเกิด ภาวะอารมณ์สองขั้ว กลับเป็นซ้ำในภายหลัง
- การป้องกันระยะยาว เป้าหมายของการรักษา คือป้องกัน การเกิดอาการในครั้งต่อไป และช่วยให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติให้มากที่สุด ระยะเวลาในการให้ยาสำหรับป้องกัน แตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการเจ็บป่วย ความถี่ของการเกิดอาการกำเริบแต่ละครั้ง ในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และอาการกำเริบบ่อย ๆ อาจต้องกินยาตลอดชีวิต