พืชสมุนไพรเก่าแก่มีฤทธิ์เป็นยา ช่วยรักษาได้หลายอย่าง ทางการแพทย์ของกรีกโบราณคือ ฮิปโปเครติส ยังยกย่องว่ากระเทียมเป็นสมุนไพรที่ให้ประโยชน์ทางยาสูงสุดอีกชนิดหนึ่ง ต่อต้านการเกิดเซลล์มะเร็ง ต้านการอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย และยังช่วยต้านเชื้อไวรัสบางชนิด
ที่สำคัญช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลและไขมันชนิดไม่ดีที่ร่างกายไม่ต้องการ จึงแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตีบตันกินกระเทียมเป็นประจำ ในกระเทียมสด 1 กลีบ จะประกอบด้วย น้ำ 64.3% โปรตีน 7.9% ไขมัน 0.6% คาร์โบไฮเดรต 16.3% ให้พลังงานทั้งหมด 98 กิโลแคลอรี และเป็นที่น่าสงสัยเราอาจจะจำกระเทียมได้จากกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และนั้นเป็นผลมาจากสารอัลลิซิน
ประวัติศาสตร์ของกระเทียม
กระเทียมถูกใช้ทั่วโลกเป็นเวลาหลายพันปี บันทึกระบุว่ามีการใช้กระเทียมเมื่อสร้างปิรามิดแห่งกิซ่าเมื่อประมาณ 5,000 ปีก่อน
Richard S. Rivlin เขียนไว้ใน Journal of Nutrition ว่าแพทย์ชาวกรีกโบราณ Hippocrates (ประมาณ 460-370 ปีก่อนคริสตกาล) ซึ่งรู้จักกันในนาม “บิดาแห่งการแพทย์ตะวันตก” ฮิปโปเครติส (Hippocrates) ส่งเสริมการใช้กระเทียมในการรักษาระบบทางเดินหายใจ ปรสิต การย่อยอาหารไม่ดี และ ความเหนื่อยล้า
ผู้เชี่ยวชาญที่ Kew Gardens ซึ่งเป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศทางพฤกษศาสตร์ของอังกฤษ กล่าวว่า ผู้คนในอินเดียเห็นคุณค่าของคุณสมบัติในการรักษาโรคของกระเทียม และยังคิดว่ามันเป็นยาโป๊ (ยาชูกำลังให้รู้สึกกระชุ่มกระชวยขึ้น) ชนชั้นสูงหลีกเลี่ยงกระเทียมเพราะพวกเขาเกลียดชังกลิ่นที่ฉุน ในขณะที่พระภิกษุ ,หญิงม่าย ,วัยรุ่น และบรรดาผู้ที่ถือศีลอดก็กินกระเทียมไม่ได้เพราะมีคุณสมบัติกระตุ้นอารมณ์
ตลอดประวัติศาสตร์ในตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออก และเนปาล มีการใช้กระเทียมในการรักษาโรคหลอดลมอักเสบความดันโลหิตสูง ,วัณโรค ,ความผิดปกติของตับ ,โรคบิดท้องอืดจุกเสียด ,โรคไขข้อเบาหวานและไข้หวัด
สารออกฤทธิ์สำคัญในกระเทียม
- ไดซัลไฟด์ : จะช่วยควบคุมระดับโคเลสเตอรอล และไขมันในเลือด
- อัลลิซิน : ช่วยต่อต้านเชื้อแบคทีเรียและลดอาการอักเสบ
- อัลลิอิน : เป็นสารปฏิชีวนะ
- เซลิเนียม : เป็นสารแอนติออกซิแดนท์ จะควบคุมการทำงานของร่างกายให้อยู่ในภาวะปกติ
- กำมะถัน : ป้องกันโรคผิวหนังหลายชนิด บำรุงข้อต่อและกล้ามเนื้อ
เป็นพืชล้มลุกที่มีหัวลักษณะเป็นทรงกระเปาะอยู่ใต้ดินเช่นเดียวกับหัวหอม ซึ่งแต่ละหัวจะประกอบด้วย 6-10 กลีบ นิยมนำมาใช้เป็นเครื่องปรุงประกอบอาหาร กระเทียมเป็นพืชที่ค่อนข้างแตกต่างจากพืชทั่วไป เพราะอุดมไปด้วยกำมะถันหรือซัลเฟอร์ในปริมาณมาก นอกจากนี้กระเทียมประกอบไปด้วยสารอาหารอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น อาร์จีนีน (Arginine) โอลิโกแซ็คคาไรด์ (Oligosaccharides) ฟลาโวนอยด์ (Flavoniods) และซีลีเนียม (Selenium) ซึ่งล้วนเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
ทั้งนี้ข้อพิสูจน์หรือหลักฐานทางการแพทย์มีมากน้อยเพียงใดที่จะช่วยยืนยันสรรพคุณ ประโยชน์ และความปลอดภัยของการรับประทานกระเทียมที่มีบทบาทหรือส่วนช่วยในการรักษาโรคเหล่านี้
ประโยชน์ของกระเทียม
ประโยชน์หลักของกระเทียมคงหนีไม่พ้นการนำมาใช้เพื่อช่วยปรุงรสชาติของอาหาร จะใช้ผัด แกง ทอด ยำ ต้มยำ หรือน้ำพริกต่าง ๆ กระเทียมเป็นเครื่องสมุนไพรที่อุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุหลายชนิด และยังเป็นพืชที่ธาตุซีลีเนียมสูงกว่าพืชชนิดอื่น ๆ อีกทั้งยังมีสารอะดีโนซีน ซึ่งเป็นกรดนิวคลีอิกที่เป็นตัวสร้าง DNA และ RNA ของเซลล์ในร่างกาย นอกจากนี้ยังมีการนำกระเทียมไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น กระเทียมเสริมอาหาร กระเทียมสกัดผง สารสกัดน้ำมันกระเทียม กระเทียมดอง
สารอัลลิซินเป็นสารที่ให้กลิ่นฉุน สารตัวนี้จะออกฤทธิ์ให้สรรพคุณทางยาที่มีประโยชน์ เมื่อเราหั่น ฝาน หรือทุบกระเทียม เพื่อนำไปทำอาหาร ก็ไม่ได้ทำให้สารอัลลิซินสลายไป คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำให้รับประทานกระเทียมวันละ 7-12 กลีบ หรือไม่เกินวันละ 1 หัวขนาดเล็ก จะเป็นการรับประทานกระเทียมสด หรือรับประทานผ่านการปรุงอาหาร ก็ได้รับประโยชน์และส่งผลดีต่อสุขภาพเช่นเดียวกัน
กระเทียมช่วยรักษาโรค
กระเทียมใช้กันอย่างแพร่หลายในการปรุงอาหาร แต่ก็ยังถูกใช้เป็นยาตลอดประวัติศาสตร์สมัยโบราณและสมัยใหม่ ได้ถูกนำมาใช้ในการป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ มากมาย
ความดันโลหิตสูง
สารออกฤทธิ์อัลลิซิน ที่พบในกระเทียมสด หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาการที่มีส่วนประกอบของกระเทียม อาจมีส่วนช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อเรียบที่เรียงตัวในหลอดเลือดและส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัวและทำให้ระดับความดันโลหิตลดต่ำลง จะสอดคล้องกับการทดลองชิ้นหนึ่งให้ผู้ป่วยที่มีระดับความดันโลหิตสูงโดยที่มีค่าความดันซิสโตลิก มากกว่าหรือเท่ากับ 140 มิลลิตรปรอท รับประทานกระเทียมบ่มสกัด ขนาด 960 มิลลิกรัม เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าค่าความดันซิสโตลิกลดต่ำลงมากกว่าเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่รับประทานยาหลอด
อาจกล่าวได้ว่าการรับประทานกระเทียมบ่มสกัดอาจมีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยความดันโลหิตสูงได้ดีกว่ายาหลอด แม้ว่าจะมีการทดลองอีก 2 ชิ้นที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของกระเทียมในการลดระดับความดันโลหิตได้ดีกว่าการใช้ยาหลอด แต่เนื่องจากผลการทดลองอาจยังไม่แม่นยำเพียงพอที่จะสรุปประสิทธิภาพของกระเทียมได้ว่าสามารถรักษาหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง จึงยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
แก้หวัด
เชื่อว่ากระเทียมมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์และเชื้อไวรัส มีการนำมาใช้เพื่อป้องกัน และบรรเทาอาการหวัดมาอย่างยาวนาน การศึกษาชิ้นหนึ่งที่ให้อาสาสมัคร 146 คน รับประทานสารสกัดจากกระเทียมชนิดเม็ดประกอบไปด้วยสารอัลลิซินขนาด 180 มิลลิกรัมวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ แล้วให้อาสาสมัครจดบันทึกอาการเมื่อเป็นหวัด พบว่าในกลุ่มที่รับประทานสารสกัดจากกระเทียมมีรายงานการเป็นหวัดจำนวน 24 ครั้ง
ซึ่งน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอกที่มีรายงานการเป็นหวัดจำนวน 65 ครั้ง อีกทั้งยังพบว่าระยะเวลาของการเป็นหวัดในกลุ่มที่รับประทานสารสกัดจากกระเทียมมีจำนวนวันที่น้อยกว่า แต่ระยะเวลาการฟื้นตัวจากอาการหวัดของทั้ง 2 กลุ่มมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย ถึงแม้ว่าผลการทดลองข้างต้นจะแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของกระเทียม แต่หลักฐานการทดลองทางคลินิกยังไม่เพียงพอและจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของกระเทียมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ลดมวลไขมัน ลดน้ำหนัก
ภาวะไขมันพอกตับ ที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ แต่มักมีสาเหตุมาจากโรคอ้วน โรคเบาหวาน และประเภทที่ 2 ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง การรักษาด้วยการรับประทานยา การผ่าตัด หรือลดน้ำหนักอาจจะไม่เพียงพอ หากไม่ดูแลเรื่องการรับประทานอาหารควบคู่ไป การรับประทานกระเทียมจึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะกระเทียมเป็นพืชสมุนไพรที่อุดมไปด้วยกำมะถัน หรือซัลเฟอร์และสารอาหารอื่น ๆ ที่อาจมีคุณสมบัติป้องกันภาวะอ้วน
จะสอดคล้องกับการวิจัยชิ้นหนึ่งที่ให้ผู้ป่วยไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ทั้งเพศชายและเพศหญิง อายุตั้งแต่ 20-70 ปี จำนวนทั้งสิ้น 110 คน รับประทานกระเทียมผงชนิดแคปซูลขนาด 400 มิลลิกรัม ภายในประกอบไปด้วยสารอัลซิลินขนาด 1.5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 15 สัปดาห์ สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ แต่รับประทานกระเทียมได้ไม่เกินสัปดาห์ละ 2 กลีบ จากผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า น้ำหนักและมวลร่างกายลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอก จึงอาจกล่าวได้ว่าการรับประทานกระเทียมอาจช่วยลดปริมาณไขมันในตับและป้องกันหรือชะลอการเกิดภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์
มะเร็ง
ผลวิจัยจากสหรัฐอเมริกาที่ระบุว่า กระเทียมอาจจะมีคุณสมบัติต้านโรคมะเร็ง เนื่องจากสารในกระเทียมออกฤทธิ์ลดความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอก แม้การบริโภคกระเทียมและความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งยังไม่แน่ชัดและยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน จะเห็นได้จากการวิจัยชิ้นหนึ่งที่ชาวจีนทั้งเพศชายและเพศหญิงที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารจำนวนกว่า 5,000 คน รับประทานสารอัลลิทริดินขนาด 200 มิลลิกรัมต่อวัน ร่วมกับสารซีลีเนียมขนาด 100 ไมโครกรัมวันเว้นวัน ซึ่งล้วนเป็นสารสกัดที่ได้จากกระเทียม
โดยทำการทดลองเป็นเวลา 5 ปี และได้เปรียบเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอด พบว่ากลุ่มที่รับประทานสารอัลลิทริดินร่วมกับสารซีลีเนียมมีความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกลดลงได้ถึง 33 เปอร์เซ็นต์ และมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารลดลงถึง 52 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาวิจัยอีก 19 ชิ้นแสดงให้ว่า ยังไม่พบหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ที่การบริโภคกระเทียมต่อความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งทรวงอก มะเร็งปอด หรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และมีหลักฐานที่ค่อนข้างจำกัดที่สนับสนุนว่าการบริโภคกระเทียมอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งในช่องปาก หรือมะเร็งรังไข่
สิว
สรรพคุณของกระเทียมจะมีฤทธิ์ป้องกันเชื้อราต่าง ๆ และกระเทียมยังสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้อีกด้วย เคล็ดลับจากภูมิปัญญาของคนไทย จึงใช้กระเทียมมาช่วยในการรักษาสิว ด้วยการฝานกระเทียมสด เป็นแผ่นบาง ๆ แล้วนำแปะบริเวณที่เป็นสิว ซึงสามารถแปะได้ทุกส่วนของร่างกายที่เป็นสิว หรือบางคนอาจจะนำมาบดให้ละเอียด หรือสับให้แหลก แล้วจึงนำมาทาบริเวณที่เป็นสิว แปะทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาที หรือตามความต้องการ แล้วจึงล้างออกให้สะอาด
ระบบย่อยอาหาร
ช่วยเพิ่มความอยากอาหาร และช่วยเพิ่มความสามารถในการย่อยอาหารของร่างกาย กระเทียมสดจะช่วยกระตุ้นน้ำย่อยในกระเพาะอาหารให้หลั่งสารออกมาย่อยอาหารในปริมาณมากขึ้น และเสริมการทำงานของเอนไซม์ที่ช่วยย่อยสารอาหารจำพวกโปรตีน จะเป็นโปรตีนจากเนื้อสัตว์ รวมทั้งยังช่วยเสริมระดับการหลั่งของกรดไฮโดรคลอลิก ซึ่งมีหน้าที่ช่วยย่อยอาหารจำพวกโปรตีนในกระเพาะโดยเฉพาะ ทั้งนี้กระเทียมยังอุดมไปด้วยใยอาหาร วิตามินบี 1 วิตามินซี มีกลิ่นที่เฉพาะตัว ช่วยเพิ่มความอยากอาหารสำหรับผู้ที่ไม่เจริญอาหารอีกด้วย
ป้องกันโรคหัวใจ
นักวิจัยจากโรงเรียนแพทย์ Emory University School of Medicine พบว่า Diallyl trisulfide ซึ่งเป็นส่วนประกอบของน้ำมันกระเทียมช่วยปกป้องหัวใจระหว่างการผ่าตัดหัวใจและหลังจากหัวใจวาย พวกเขายังเชื่อว่า diallyl trisulfide สามารถใช้รักษาภาวะหัวใจล้มเหลวได้
ในการทดลองโดยใช้หนูทดลอง ทีมงานพบว่าหลังจากหัวใจวาย หนูที่ได้รับ diallyl trisulfide มีความเสียหายต่อหัวใจน้อยกว่า 61 เปอร์เซ็นต์ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เมื่อเทียบกับหนูที่ไม่ได้รับการรักษา
ในการศึกษาอื่นที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Agricultural and Food Chemistry นักวิทยาศาสตร์พบว่าน้ำมันกระเทียมอาจช่วยปกป้องผู้ป่วยโรคเบาหวานจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ โดยสรุปแล้ว น้ำมันกระเทียมมีศักยภาพที่สำคัญในการปกป้องหัวใจจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่เกิดจากเบาหวาน จะต้องมีการศึกษาในมนุษย์เพื่อยืนยันผลการศึกษานี้
อาการบาดเจ็บที่ตับที่เกิดจากแอลกอฮอล์
อาการบาดเจ็บที่ตับที่เกิดจากแอลกอฮอล์เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปในระยะยาว
นักวิทยาศาสตร์จาก Institute of Toxicology, School of Public Health, Shandong University, China ต้องการตรวจสอบว่า diallyl disulfide (DADS) ซึ่งเป็นสารประกอบออร์กาโนซัลเฟอร์ที่ได้จากกระเทียมสามารถป้องกันความเครียด จากปฏิกิริยาออกซิเดชันที่เกิดจากเอธานอล ได้หรือไม่
การศึกษาของพวกเขาได้รับการตีพิมพ์ใน Biochimica et Biophysica Acta นักวิจัยสรุปว่า DADS อาจช่วยป้องกันการบาดเจ็บของตับที่เกิดจากเอธานอลได้
โทษของกระเทียม
กระเทียมมีประโยชน์และสรรพคุณทางยาก็จริง แต่ทุกอย่างก็ต้องตั้งอยู่บนความสมดุล หากกินกระเทียมมากเกินไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน เพราะจะส่งผลให้เกิดภาวะเลือดแข็งตัวช้า เนื่องจากสารในกระเทียมจะยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ซึ่งหากเกิดบาดแผลจะทำให้เลือดไหลไม่หยุด
คำเตือน!
สตรีตั้งครรภ์และคุณแม่ที่เพิ่งคลอดให้นมบุตร ควรงดรับประทานกระเทียมในรูปแบบยาเสริมอาหาร เนื่องจากกระเทียมอาจทำให้รสชาติของน้ำนมเปลี่ยนไป ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งต้องทานยากลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด และทานยาละลายลิ่มเลือดเป็นประจำ ไม่ควรทานกระเทียมในปริมาณที่มากเกินไป เพราะอาจทำให้เป็นโรคโลหิตจาง ในผู้ที่แพ้กระเทียมบางราย อาจมีอาการปวดท้อง อาเจียน และวิงเวียนศีรษะควบคู่กัน หากทานในปริมาณที่มากเกินพอดี ก็อาจจะส่งผลเสียได้เช่นกัน
สำหรับใครที่มีโรคประจำตัว ที่ต้องการทานยาแผนโบราณที่มีกระเทียมเป็นส่วนประกอบ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง หากใครที่วางแผนเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดรับประทานกระเทียมก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพราะอาจทำให้เลือดออกมากจะส่งผลต่อความดันโลหิตในระหว่างทำการผ่าตัด ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติไม่ควรรับประทานกระเทียม โดยเฉพาะกระเทียมสด เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น