ในอดีตกาล มีนักเลงสกาคนหนึ่งที่ชอบโกงผู้อื่น เมื่อแพ้ก็มักจะทำลูกสกาหาย เพื่อที่จะได้ไม่เสียเงิน อยู่มาวันหนึ่ง นักเลงสกาคนนั้นไปเล่นสกากับลูกเศรษฐี ครั้งนี้เขาแพ้อีกครั้ง เขาจึงทำลูกสกาหายเช่นเคย แต่คราวนี้ ลูกเศรษฐีรู้ทัน เขาจึงนำลูกสกาอาบยาพิษไปเล่นกับนักเลงสกาคนนั้น ผลปรากฏว่านักเลงสกาคนนั้นกลืนลูกสกาอาบยาพิษเข้าไป เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนทรมานอย่างแสนสาหัส ท้ายที่สุดก็เสียชีวิตลง
ลูกสกาอาบยาพิษ
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภการบริโภคปัจจัยที่มิได้พิจารณา เรื่องมีอยู่ว่า ในสมัยนั้น พวกภิกษุได้ปัจจัย ๔ มีจีวรเป็นต้น ไม่ได้พิจารณาก่อนแล้วบริโภค ภิกษุเหล่านั้น โดยมากจะไม่พ้นจากนรกและกำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน
พระพุทธองค์ จึงตรัสถึงโทษในการไม่พิจารณาปัจจัย 4 แล้วใช้สอนว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาภิกษุ ได้รับปัจจัย 4 แล้ว ไม่พิจารณาบริโภคไม่ควรเลย เพราะฉะนั้น จำเดิมแต่นี้ พวกเธอ ต้องพิจารณาแล้วจึงค่อยบริโภค”
เมื่อทรงแสดงวิธีพิจารณาปัจจัย 4 ทรงวางแบบแผนไว้โดยนัยมีอาทิว่า “ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงใช้สอยจีวร ฯลฯ เมื่อต้องการปกปิดอวัยวะที่น่าละอาย” แล้วตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย การพิจารณาปัจจัย ๔ อย่างนี้แล้วบริโภคย่อมสมควร ขึ้นชื่อว่า การไม่พิจารณาแล้วบริโภค เป็นเช่นกับบริโภคยาพิษที่ร้ายแรงยิ่งใหญ่ ด้วยว่า คนในครั้งก่อน ไม่พิจารณา ไม่รู้โทษ บริโภคยาพิษ ผลที่สุดต้องเสวยทุกข์ใหญ่หลวง” แล้วทรงนำอดีตนิทานมาสาธกดังนี้ว่า…
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นนักเลงสกา ในกรุงพาราณสี วันหนึ่ง ได้เล่นสกากับชายโกงคนหนึ่ง เมื่อเวลาตนชนะก็จะไม่ทำลายสนามเล่น พอเวลาแพ้จะเอาลูกสกาใส่ปากแล้วบอกว่า ลูกสกาหาย แล้วก็เลิกเล่นหนีไปเป็นประจำ
พระโพธิสัตว์ จึงคิดหาวิธีแก้เผ็ดด้วยการเอาลูกสกาย้อมยาพิษแล้วตากให้แห้ง นำไปเล่นกับเขา พอเวลาแพ้เขาก็ทำเช่นนั้นอีก พระโพธิสัตว์เห็นเช่นนั้น จึงกล่าวคาถาว่า
“บุรุษ กลืนลูกสกา อันเคลือบด้วยยาพิษอย่างแรง ยังไม่รู้ตัว เฮ้ย เจ้านักเลงชั่ว เจ้าจงกลืนเข้าไป พิษร้ายแรงจักออกฤทธิ์แก่เจ้าในภายหลัง”
Advertisement
ขณะที่พระโพธิสัตว์กำลังพูดอยู่นั่นแหละ เขาได้ล้มลงสลบไปด้วยฤทธิ์ยาพิษ พระโพธิสัตว์จึงปรุงยาเพื่อให้เขาสำรอกออกมา ให้รอดพ้นจากความตาย แล้วสั่งสอนเขาไม่ให้ทำเช่นนั้นอีก
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
จะกินจะใช้อะไร ควรพิจารณาก่อนกินก่อนใช้เสมอ