การทำเกินประมาณอาจนำไปสู่ความเสียหายได้ ดังเช่น นิทานชาดก : การทำเกินประมาณ ที่ได้สอนให้เรารู้จักประมาณตน อย่าทำอะไรเกินตัว จะได้ไม่เสียใจภายหลัง
การทำเกินประมาณ
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวันเมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุผู้ว่ายากรูปหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า…
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในเมืองพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดเป็นช่างตีกลอง อาศัยอยู่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ในช่วงเทศกาลงานประจำปีในเมืองพาราณสี เขาได้ชวนลูกชายไปแสดงตีกลองเก็บเงินค่าดูได้จำนวนมาก
ในวันสุดท้ายของวันงานจึงเดินทางกลับบ้าน ลูกชายด้วยความคะนองและดีใจที่ได้เงินมาก จึงตีกลองไปตลอดทาง พอไปถึงดงโจรในระหว่างทาง พ่อจึงกล่าวว่า
“ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าตีกลองไม่หยุดระยะ จงตีเป็นระยะ เหมือนกลองของทหารเดินทางสิ”
ลูกชายกลับพูดว่า
“ผมจักไล่พวกโจรให้หนีไปด้วยเสียงกลองนี้” แล้วยิ่งกระหน่ำตีกลอง ไม่หยุดระยะเลย
ฝ่ายพวกโจรพอได้ยินเสียงกลองครั้งแรกก็คิดจะหนีไปเพราะนึกว่ากลองทหาร พอฟังนานๆไปก็เอ๊ะใจว่าไม่ใช่ จึงซุ่มดูอยู่ข้างทางเห็นมีเพียงสองพ่อลูกเท่านั้น จึงรุมทุบตีแย่งชิงทรัพย์เอาไปหมดสิ้น พ่อจึงกล่าวสอนลูกชายด้วยคาถาว่า
“เมื่อจะตีกลองก็ตีเถิด แต่อย่าตีเกินประมาณ เพราะการตีเกินประมาณ เป็นการเสียหายของเรา ทรัพย์ตั้งร้อยที่ได้มาเพราะการตีกลอง ได้สูญเสียไป เพราะเจ้าตีกลองเกินประมาณ”
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
อย่าทำอะไรให้เกินประมาณเพราะจะสร้างความลำบากให้ภายหลัง