ฤกษ์ยามเป็นความเชื่อที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมาช้านาน หลายคนเชื่อว่าฤกษ์ยามที่ดีจะช่วยให้งานมงคลต่างๆ ประสบความสำเร็จ แต่แท้จริงแล้วฤกษ์ยามมีความสำคัญเพียงใด นิทานชาดกเรื่อง “นักขัตตชาดก” ว่าด้วยโทษของการถือฤกษ์ยาม จะช่วยให้เราเข้าใจถึงประโยชน์ของฤกษ์ยามได้อย่างแท้จริง
ประโยชน์ของฤกษ์
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวันเมืองสาวัตถี ทรงปรารภเรื่องประโยชน์ของฤกษ์ เรื่องมีอยู่ว่า
วันหนึ่ง มีชาวบ้านนอกคนหนึ่ง ไปขอสาวในเมืองสาวัตถีให้ลูกชายของตน พร้อมกำหนดนัดวันแต่งงานไว้แล้ว ครั้นถึงวันแต่งานได้ไปสอบถามฤกษ์กับนักบวชอาชีวกว่าดีหรือไม่ นักบวชอาชีวกโกรธที่เขาไม่ได้มาปรึกษาก่อนในคราวแรกจึงพูดว่า “วันนี้ฤกษ์ไม่ดี ท่านอย่ากระทำการมงคลใด ๆ ขืนทำลงไปจะเกิดความพินาศ” พวกเขาพากันเชื่ออาชีวกจึงไม่ได้ไปรับตัวเจ้าสาวในวันนั้น
ฝ่ายชาวเมืองสาวัตถีได้จัดเตรียมงานมงคลไว้พร้อมเพรียงแล้ว แต่ไม่เห็นพวกเจ้าบ่าวมารับเจ้าสาวสักที จึงตกลงกันว่า ” พวกนั้น กำหนดนัดวันนี้แล้วกลับไม่เห็นมา งานของพวกเราก็ใกล้จะเสร็จแล้ว พวกเราจะยกลูกสาวให้คนอื่นไปเสีย ” จึงได้จัดงานแต่งงานด้วยมงคลที่ได้เตรียมไว้แล้วนั้น
ในวันรุ่งขึ้นพวกบ้านนอกที่ขอไว้ก็มาถึง ทันทีที่เห็นหน้ากันพวกชาวเมืองก็พากันด่าพวกบ้านนอกว่า “พวกท่านสมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นคนบ้านนอก ขาดความเป็นผู้ดี กำหนดนัดวันไว้แล้ว กลับไม่มาตามนัด เชิญกลับไปตามทางที่มานั้นแหละ พวกเรายกเจ้าสาวให้คนอื่นไปแล้วละ”
พวกชาวบ้านนอกจึงทะเลาะกับชาวเมืองด้วยเหตุอันนี้ เรื่องที่อาชีวกทำลายงานมงคลของผู้คนเป็นที่ทราบกันไปทั่ว แม้กระทั่งภิกษุในวัด
ในเย็นของวันหนึ่ง พวกภิกษุประชุมกันในธรรมสภาถามเรื่องประโยชน์ของฤกษ์แก่พระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงตรัสเป็นพระคาถาว่า
“ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนโง่เขลาที่มัวรอคอยฤกษ์ยามอยู่ ประโยชน์นั่นแหละเป็นฤกษ์ของประโยชน์ ดวงดาวทั้งหลายจักทำอะไรได้”
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
จะทำกิจการใด ๆ ไม่ควรคอยฤกษ์ยาม