อาจารย์ขมังเวทย์ นิทานชาดกที่สอนให้รู้จักกาลเทศะ กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีพราหมณ์ผู้รู้มนต์ชื่อเวทัพพะ วันหนึ่งอาจารย์และลูกศิษย์ได้เดินทางไปทำธุระ แวะพักในป่า ระหว่างทางถูกโจรจับเรียกค่าไถ่ อาจารย์และลูกศิษย์ถูกปล่อยตัว แต่เพราะความไม่รู้กาลเทศะของอาจารย์ ทำให้ต้องพบกับอันตราย
อาจารย์ขมังเวทย์
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวันเมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุผู้ว่ายากรูปหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า…
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในเมืองพาราณสีมีพราหมณ์ผู้รู้มนต์คนหนึ่งชื่อเวทัพพะ สามารถร่ายมนต์เรียกฝนเงินฝนทองให้ตกลงมาได้ พราหมณ์มีลูกศิษย์อยู่คนหนึ่ง วันหนึ่งอาจารย์และลูกศิษย์ได้เดินทางไปทำธุระที่แคว้นเจตี พอไปถึงป่าในระหว่างทางถูกโจรจับเรียกค่าไถ่ ทำเนียมของโจรพวกนี้คือเมื่อจับผู้คนได้แล้ว ถ้าเป็นแม่กับลูกสาวจะปล่อยแม่ไป ถ้าเป็นพี่กับน้องจะปล่อยพี่ไป ถ้าเป็นอาจารย์กับลูกศิษย์ จะปล่อยลูกศิษย์ไป
ลูกศิษย์ก่อนแต่จะออกเดินทางไป ได้กระซิบเตือนอาจารย์ว่า
“อาจารย์ครับ ผมจะไปสักสองสามวันเท่านั้น อาจารย์อย่าได้หวั่นไปเลย และวันนี้จะมีฤกษ์ดี ท่านอย่าได้ไร้ความอดทน ร่ายมนต์ให้ฝนเงินฝนทองตกลงมาเป็นอันขาด เพราะพวกโจรจักฆ่าท่านเสีย”
ฝ่ายพวกโจร พออาทิตย์ตกดินก็จับมัดพราหมณ์ให้นอนอยู่ ขณะนั้น พระจันทร์เต็มดวงก็โผล่ขึ้น พราหมณ์ เห็นเช่นนั้นก็คิดได้ว่า “ฤกษ์ที่จะทำให้ฝนเงินฝนทองตกลงมามีแล้ว เราจะมานอนทนทุกข์ทรมานอยู่อย่างนี้ทำไม ร่ายมนต์เรียกฝนเงินฝนทองตกลงมามอบทรัพย์ให้โจรแล้ว ให้พวกมันปล่อยเราไปจะดีกว่า” จึงเรียกโจรมาบอกให้ปล่อยตนแล้ว นั่งประกอบพิธีร่ายมนต์แหงนดูดาวเรียกฝนเงินฝนทองให้ตกลงมา
พวกโจรพากันเก็บรวบรวมทรัพย์ใส่ห่อผ้าแบกหนีไป ฝ่ายพราหมณ์ก็เดินตามไปข้างหลัง ขณะนั้น ได้มีโจรอีกกลุ่มหนึ่งพากันจับโจรพวกที่หนึ่งไว้ โจรกลุ่มที่หนึ่งจึงบอกให้จับพราหมณ์ที่เดินตามหลังมา เพราะทรัพย์นี้พราหมณ์เป็นผู้เรียกมาให้ จะเอามากเท่าใดก็ได้
พวกโจรกลุ่มนั้นจึงปล่อยโจรกลุ่มที่หนึ่งไป จับพราหมณ์แล้วบังคับให้เรียกฝนเงินฝนทองตกลงมาให้ พอได้ยินพราหมณ์ตอบว่าไม่สามารถเรียกฝนเงินฝนทองได้อีก ปีหนึ่งสามารถเรียกได้ครั้งเดียวเท่านั้น ต้องรอจนถึงปีหน้า ด้วยความโกรธหัวหน้าโจรจึงฟันพราหมณ์ตายคาที่ แล้วรีบติดตามโจรกลุ่มที่หนึ่งไป ทำการชิงทรัพย์และฆ่าโจรกลุ่มที่หนึ่งตายหมดสิ้น ในระหว่างที่เก็บรวบรวมทรัพย์อยู่นั้นพวกโจรเกิดแตกคอกันเรื่องการแบ่งทรัพย์ จึงเกิดการต่อสู่กันเองจนในที่สุดเหลือโจรเพียง 2 คนเท่านั้น
โจรทั้ง 2 คน ได้นำเอาทรัพย์ไปซ่อนไว้ในป่าใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ด้วยความหิวจึงให้โจรคนหนึ่งนั่งเฝ้าทรัพย์ไว้ อีกคนเข้าไปหาอาหารในหมู่บ้าน “ธรรมดาความโลภเป็นต้นเหตุแห่งความพินาศ”
โจรที่นั่งเฝ้าทรัพย์ก็คิดด้วยความโลภว่า “ถ้ามีมัน ก็ต้องแบ่งทรัพย์เป็นสองส่วน พอมันมาถึง เราจะฆ่ามันด้วยการฟันครั้งเดียว”
ฝ่ายโจรอีกคนก็คิดเช่นเดียวกัน พอได้อาหารแล้วก็รีบกินเสียก่อน ส่วนที่เหลือก็ใส่ยาพิษไว้ ถือเดินไปหาโจรที่เฝ้าทรัพย์ พอก้มลงวางอาหารเท่านั้นก็ถูกฟันตายคาที่ โจรนั้นได้นำศพเพื่อนไปทิ้งแล้วกลับมากินอาหาร ตนเองก็เสียชีวิตในที่นั้นนั่นเอง คนทั้งหมดได้ถึงความพินาศเพราะอาศัยทรัพย์นั้นด้วยประการฉะนี้
สองสามวันต่อมา ลูกศิษย์ได้ถือเอาทรัพย์กลับมาแล้วไม่พบอาจารย์ในที่นั้น เห็นแต่ทรัพย์กระจัดกระจายอยู่ จึงทราบเหตุการณ์ เดินผ่านไปเห็นอาจารย์นอนตายอยู่ และซากศพโจรอีกจำนวนหนึ่ง จึงกล่าวเป็นคาถาว่า
“ผู้ใด ปรารถนาประโยชน์ โดยอุบายอันไม่แยบยล ผู้นั้น ย่อมเดือดร้อน เหมือนโจรชาวแคว้นเจตะ ฆ่าพราหมณ์เวทัพพะเสียแล้ว ก็พลอยถึงความพินาศทั้งหมด”
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
ความโลภเป็นหนทางแห่งความฉิบหาย