นิทานชาดก : ลำดับอาวุโส สอนให้รู้ว่า เป็นผู้น้อยควรให้ความเคารพยำเกรงผู้ที่อาวุโสกว่า ดังเช่น ลิง ช้าง และนกกระทา สามสหายที่อาศัยอยู่ด้วยกันอย่างผาสุก แต่แล้ววันหนึ่งเกิดมีเรื่องขัดแย้งกันขึ้น เพราะต่างฝ่ายต่างก็คิดว่าตนเป็นผู้อาวุโสกว่า จนในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า ผู้เกิดก่อนคือผู้อาวุโสสูงสุด นกกระทาจึงเป็นผู้อาวุโสของกลุ่มนี้
ลำดับอาวุโส
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า เมื่อคราวเสด็จไปเมืองสาวัตถี ทรงปรารภการห้ามเสนาสนะของพระสารีบุตร เรื่องมีอยู่ว่า สมัยนั้นเมื่อท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างวิหารเสร็จแล้ว ส่งทูตไปนิมนต์พระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ มีพระสงฆ์สาวกแวดล้อมได้เสด็จออกจากเมืองราชคฤห์มารับการถวายวิหาร พวกอันเตวาสิกของฉัพพัคคีย์ภิกษุ เดินทางล่วงหน้าไปถึงกรุงสาวัตถีก่อนใคร แล้วพากันจับจองเสนาสนะเอาไว้ให้พระอุปัชฌาย์และอาจารย์ของตนเอง ทำให้พระสารีบุตรเถระผู้มาถึงทีหลังไม่ได้เสนาสนะ จึงเป็นเหตุให้พระพุทธองค์ประชุมภิกษุสงฆ์แล้วตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ในศาสนานี้ ควรกระทำอภิวาท การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรมต่อผู้แก่กว่า ภิกษุควรได้อาสนะเลิศ น้ำอันเลิศ ก้อนข้าวอันเลิศ ตามลำดับผู้ที่แก่กว่า”
แล้วได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า…
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีสัตว์สามสหายคือ นกกระทา ลิงและช้าง อาศัยต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่งอยู่ในป่าหิมพานต์ สัตว์ทั้งสามอยู่อย่างไม่เคารพ ไม่ยำเกรง ไม่เสมอภาคกัน ต่อมาสัตว์ทั้งสามตัวตกลงจะทำความเคารพกันตามความอาวุโส จึงคิดหาวิธีรู้ว่าใครจะเกิดก่อนกัน
- อยู่มาวันหนึ่ง สัตว์ทั้งสาม ขณะอยู่ที่ต้นไทรได้ถามกันและกันว่า “ท่านรู้จักต้นไทรนี้เมื่อไหร่ ?”
- ช้างพูดว่า “สมัยที่เราเป็นลูกช้าง ต้นไทรนี้อยู่ระดับขาอ่อนของเรา เราเห็นมันตั้งแต่เป็นพุ่มไม้”
- ลิงพูดว่า “เราเป็นลูกลิงนั่งอยู่พื้นดิน ก็เคี้ยวกินหน่อของต้นไทรอ่อนนี้ เราเห็นมันตั้งแต่เป็นต้นเล็ก ๆ อยู่”
- ส่วนนกกระทาพูดว่า “สหายทั้งสองเอ๋ย เมื่อก่อนต้นไทรใหญ่อยู่ที่โน้น เราไปกินผลของมันแล้วมาถ่ายอุจจาระลงในที่นี้ จึงทำให้มีต้นไทรต้นนี้ขึ้น”
จึงทำให้สัตว์ทั้งสามทราบลำดับอาวุโสของกันและกัน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ลิงและช้าง จึงอยู่ในโอวาทของนกกระทา ทำความเคารพยำเกรงกันและกัน
พระพุทธองค์ เมื่อตรัสอดีตนิทานจบแล้ว จึงได้ตรัสพระคาถาว่า
“นรชนเหล่าใด ฉลาดในธรรม นอบน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ นรชนเหล่านั้น เป็นผู้ได้รับความสรรเสริญ ในปัจจุบันนี้ และมีสุคติภพในเบื้องหน้า”
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
เป็นผู้น้อยควรให้ความเคารพยำเกรงผู้ที่อาวุโสกว่า