นิทานชาดก : วาทศิลป์ สอนให้เรารู้จักใช้วาทศิลป์ในการขอสิ่งที่ต้องการ เพราะคำพูดที่ดีย่อมส่งผลดีต่อผู้ฟังและตัวเราเอง ดังเช่นในนิทานเรื่องนี้
วาทศิลป์
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวันเมืองสาวัตถี ทรงปรารภบิณฑบาตอันมีรสอร่อยที่พระสารีบุตรให้แก่พวกภิกษุผู้ดื่มยาถ่าย ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า…
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นลูกชายเศรษฐีในเมืองพาราณสี มีลูกชายเศรษฐีอีก 3 คนเป็นเพื่อนรักกัน อยู่มาวันหนึ่ง พวกเขาชวนกันไปนั่งสนทนากันเล่นที่หนทางสี่แพร่งนอกเมือง ในขณะนั้นมีนายพรานคนหนึ่งนั่งเกวียนบรรทุกเนื้อมาเต็มลำ เพื่อจะนำไปขายในเมืองพาราณสี
- ลูกชายเศรษฐีทั้ง 4 คนเห็นเขากำลังมา จึงปรึกษากันว่าใครจะสามารถใช้วาทศิลป์ขอเนื้อจากนายพรานคนนั้นได้มากกว่ากัน เมื่อนายพรานขับเกวียนเข้ามาใกล้แล้ว
- ลูกชายเศรษฐีคนที่ 1 จึงร้องขอเนื้อขึ้นว่า “เฮ้ย..นายพราน ขอเนื้อสักชิ้นหน่อยสิ”
- นายพรานพูดว่า “วาจาของท่านหยาบคายนัก เป็นเช่นกับพังผืด เราจะให้เนื้อพังผืดแก่ท่าน” แล้วให้เนื้อพังผืดแก่เขาไป
- ลูกชายเศรษฐีคนที่ 2 ร้องขอเนื้อว่า “พี่ชาย ท่านจงให้เนื้อแก่ฉันบ้างสิ”
- นายพรานพูดว่า “คำว่าพี่ชายนี้ เป็นส่วนประกอบของมนุษย์ที่เรียกขานกันในโลก วาจาของท่านเป็นเช่นกับส่วนประกอบ เราจะให้เนื้อส่วนประกอบแก่ท่านนะ” แล้วก็ยื่นเนื้อส่วนประกอบแก่เขาไป
- ลูกชายเศรษฐีคนที่ 3 เอ่ยปากขอเนื้อว่า “พ่อ ท่านจงให้เนื้อแก่ฉันบ้างสิ”
- นายพรานพูดว่า “บุตรเรียกบิดาว่า พ่อ ย่อมทำให้หัวใจพ่อหวั่นไหว วาจาของท่านเป็นเช่นกับน้ำใจ เราจะให้เนื้อหัวใจแก่ท่านนะ” แล้วก็ยื่นเนื้อหัวใจให้เขาไป
- พระโพธิสัตว์เอ่ยปากขอเนื้อเป็นคนที่ 4 ว่า “สหาย ท่านจงให้เนื้อแก่ฉันบ้างสิ”
นายพรานพูดเป็นคาถาว่า
“ในบ้านของผู้ใดไม่มีเพื่อน บ้านนั้นเป็นเช่นกับป่า คำพูดของท่านเช่นกับสมบัติทั้งหมด สหาย ข้าพเจ้าให้เนื้อทั้งหมดแก่ท่าน”
Advertisement
ว่าแล้วก็ชวนพระโพธิสัตว์ขึ้นเกวียนไปที่บ้านของเขามอบเนื้อให้ทั้งหมด ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็เชิญนายพรานพร้อมภรรยาและบุตรธิดามาอยู่ด้วยกันให้เลิกทำการล่าสัตว์ เป็นเพื่อนที่สนิทสนมกันเกื้อกูลกันจนตราบสิ้นชีวิต
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
วาทศิลป์เป็นศิลปะชนิดหนึ่งที่พึงศึกษา เพราะพูดถูกใจคนย่อมมีผลดีมากกว่าผลร้าย