นิทานชาดก

นิทานชาดก : สะใภ้เศรษฐี

นิทานชาดก : สะใภ้เศรษฐี เป็นนิทานชาดกที่เล่าถึงเรื่องราวของนางสุชาดา สะใภ้ของเศรษฐีผู้หนึ่งที่ถือตัวว่าเป็นลูกสาวของตระกูลใหญ่ ด้วยความที่นางสุชาดาถือตัวสูง ทำให้นางมีนิสัยชอบดูถูกคนรอบข้าง โดยเฉพาะทาสรับใช้ในเรือนของสามี การกระทำของนางสุชาดาสร้างความเดือดร้อนให้กับคนรอบข้างเป็นอย่างมาก จนกระทั่งวันหนึ่ง นางสุชาดาได้พบกับเหตุการณ์ที่ทำให้นางเปลี่ยนความคิดไปตลอดกาล

สะใภ้เศรษฐี

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวันเมืองสาวัตถี ทรงปรารภนางสุชาดาน้องสาวของนางวิสาขาซึ่งเป็นลูกสะใภ้ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เรื่องมีอยู่ว่า…

นางสุชาดาสำคัญตนว่าเป็นลูกสาวของตระกูลใหญ่ จึงไม่ยอมก้มหัวให้กับใคร ๆ ในครอบครัวสามีแม้กระทั่งปู่และย่า เที่ยวดุด่าเฆี่ยนตีทาสรับใช้ในเรือนของสามีอยู่เป็นประจำ ต่อมาวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์เข้าไปฉันที่บ้านของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ขณะที่กำลังแสดงธรรมอยู่นั่นเอง ได้ยินเสียงเอะอะโวยวาย จึงตรัสถามท่านเศรษฐี เมื่อเศรษฐีกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว พระองค์จึงรับสั่งให้เรียกนางมาเข้าเฝ้า และตรัสถามนางว่า “สุชาดา ภรรยามี 7 จำพวก เธอเป็นภรรยาจำพวกไหน” นางสุชาดาไม่ทราบจึงกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ไม่ทราบว่าพระองค์ตรัสหมายถึงอะไร โปรดอธิบายด้วยเถิดพระเจ้าข้า “พระพุทธเจ้าจึงตรัสแสดงภรรยา 7 จำพวกว่า” สุชาดา

ภรรยาจำพวกที่หนึ่ง มีจิตคิดประทุษร้ายสามี มิได้ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สามี รักใคร่ในชายอื่น ดูหมิ่นล่วงเกินสามี ขวนขวายเพื่อจะฆ่าสามี นี่เรียกว่า วธกาภริยา ภรรยาเสมือนดังเพชฌฆาต

ภรรยาจำพวกที่สอง สามีได้ทรัพย์มามอบให้ภรรยาเก็บรักษาไว้ แต่ภรรยาไม่รู้จักเก็บรักษา ปรารถนาแต่จะใช้ทรัพย์นั้นให้หมดไป นี่เรียกว่า โจรีภริยา ภรรยาเสมือนดังโจร

บทความที่เกี่ยวข้อง
Advertisement

ภรรยาจำพวกที่สาม เกียจคร้านทำงาน กินจุ มักโกรธ มักดุด่า กดขี่คนใช้ นี่เรียกว่า อัยยาภริยา ภรรยาเสมือนดังเจ้านาย

ภรรยาจำพวกที่สี่ โอบอ้อมอารี ทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลทุกเมื่อ ตามรักษาสามีเหมือนแม่รักษาลูก รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ไว้ นี่เรียกว่า มาตาภริยา ภรรยาเสมือนดังมารดา

ภรรยาจำพวกที่ห้า มีความเคารพสามี มีความละอายใจ ทำตามความพอใจสามี คล้ายน้องสาวเคารพพี่ชาย นี่เรียกว่า ภคินีภรรยา ภรรยาเสมือนดังน้องสาว

ภรรยาจำพวกที่หก เห็นหน้าสามีย่อมร่าเริงยินดี คล้ายกับเพื่อนรักมาเยี่ยมเยือนบ้าน รักษาชื่อเสียงวงศ์ตระกูล มีศีลมีวัตรปฏิบัติต่อสามี นี่เรียกว่า สขีภริยา ภรรยาเสมือนดังเพื่อน

ภรรยาจำพวกที่เจ็ด เป็นคนที่ไม่มีความขึงโกรธ ถึงจะถูกคุกคามก็ไม่มีจิตคิดประทุษร้าย อดกลั้นต่อสามี เอาใจสามีเก่ง นี่เรียกว่า ทาสีภริยา ภรรยาเสมือนดังทาส

สุชาดา ภรรยา 3 จำพวกแรกต้องตกนรก ส่วนภรรยา 4 จำพวกหลังไปเกิดในเทวโลกชั้นนิมมานรดี ภรรยา 7 จำพวกนี้ เธอจะเป็นจำพวกไหน

เมื่อพระพุทธองค์เทศนาเรื่องภรรยา 7 จำพวกจบเท่านั้น นางสุชาดาได้เป็นพระโสดาปัตติผลทันที จึงกราบทูลว่า “ข้าพระองค์ขอเป็นทาสีภริยา ภรรยาเสมือนดังทาส พระเจ้าข้า” ถวายบังคมขอขมาพระพุทธเจ้าแล้วก็ไป

เมื่อกลับถึงวัดเชตวันพวกภิกษุพากันสนทนาถึงนางสุชาดาที่เป็นหญิงสะใภ้ผู้ดุร้าย พอได้ฟังธรรมของพระพุทธองค์แล้วกลับเป็นหญิงเรียบร้อยไปได้

พระพุทธเจ้าเพื่อคลายความสงสัยของพวกภิกษุได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า…

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าพรหมทัต เมืองพาราณสี พอเจริญวัยได้ไปศึกษาศิลปะที่เมืองตักกสิลา เมื่อพระราชบิดาสวรรคตแล้วก็ได้ขึ้นครองราชย์สืบมา พระองค์ทรงปกครองบ้านเมืองโดยธรรม แต่พระมารดาเป็นผู้มักโกรธดุร้าย ชอบด่าข้าทาสบริวารอยู่เสมอ พระองค์คิดหาวิธีจะตักเตือนพระมารดาแต่ก็ยังหาไม่ได้

วันหนึ่ง พระองค์เสด็จไปสวนหลวงพร้อมด้วยพระมารดา มีบริวารแวดล้อมไปด้วยคณะใหญ่ พวกข้าทาสบริวารพอได้ยินเสียงนกต้อยตีวิดร้องก็พากันปิดหูพร้อมกับบ่นว่า “เจ้านกบ้า เสียงไม่ไพเราะก็ยังร้องอยู่ได้ ไม่อยากฟัง” ลำดับนั้นได้ยินเสียงนกดุเหว่าร้องสำเนียงไพเราะก็พากันชื่นชมว่า “เสียงเจ้าช่างไพเราะจริง ๆ ร้องต่อไปเรื่อย ๆ อย่าได้หยุดนะ” พระองค์คิดว่าได้โอกาสตักเตือนพระมารดาแล้ว จึงตรัสเป็นพระคาถาว่า

“ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายที่สมบูรณ์วรรณะ มีเสียงอันไพเราะ น่ารักน่าชม แต่พูดจาหยาบกระด้าง ย่อมไม่เป็นที่รักของใคร ๆ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า พระองค์ก็ได้เห็นมิใช่หรือว่า นกดุเหว่าสีดำตัวนี้มีสีไม่สวย ลายพร้อยไปทั้งตัว แต่เป็นที่รักของสัตว์ทั้งหลายจำนวนมาก เพราะร้องด้วยเสียงอันไพเราะ เพราะฉะนั้น บุคคลควรพูดคำอันสละสลวย คิดก่อนพูด พูดพอประมาณไม่ฟุ้งซ่าน ถ้อยคำของผู้ที่แสดงเป็นอรรถเป็นธรรม เป็นถ้อยคำอันไพเราะ เป็นถ้อยคำที่เป็นภาษิต”

พระมารดาได้สดับแล้วก็กลับได้สติ จำเดิมแต่วันนั้นมาก็กลายเป็นคนเพียบพร้อมด้วยมารยาทอันดีงามไม่ดุด่าว่าร้ายใคร ๆ ครองชีวิตโดยธรรมเสด็จไปตามยถากรรม

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

สะใภ้ที่ดีควรเลือกทำตามภรรยา 4 จำพวกหลัง และควรเป็นคนเจรจาด้วยคำไพเราะอ่อนหวามเหมือนกับเสียงนกดุเหว่าที่ใคร ๆ ก็ลุ่มหลงอยากฟัง

Advertisement

กดเพื่ออ่านต่อ
Advertisement

Fern A.

สามารถสร้างสรรค์เรื่องราวที่หลากหลาย ทั้งนิทาน นิทานชาดก และนิทานอีสป โดยฉันจะเน้นไปที่การถ่ายทอดเรื่องราวที่สนุกสนานและเต็มไปด้วยข้อคิดสอนใจ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์จากเรื่องราวเหล่านั้น เชื่อว่านิทานเป็นสื่อที่ทรงพลัง สามารถปลูกฝังค่านิยมที่ดีให้กับเด็ก ๆ ได้ นิทานสามารถช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้เกี่ยวกับโลกรอบตัว รู้จักการคิดวิเคราะห์ รู้จักแยกแยะสิ่งดีสิ่งเลว รู้จักแก้ไขปัญหา และรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button