ความจริงที่ไม่ควรพูด นิทานชาดกสอนใจเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการพูดความจริง บางครั้งความจริงก็อาจนำไปสู่ผลเสียได้ หากพูดความจริงที่ไม่ดีหรือไม่เหมาะสม นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าควรรู้จักเลือกเวลาและสถานที่ในการพูดความจริง เพื่อไม่ให้เกิดการเข้าใจผิดหรือนำไปสู่ความขัดแย้ง
ความจริงที่ไม่ควรพูด
ในสมัยหนึ่ง พระเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารถภิกษุรูปหนึ่ง ผู้กระสันอยากสึกเพราะเห็นหญิงงามคนหนึ่ง ตรัสให้โอวาทว่า “ภิกษุ..ธรรมดามาตุคาม ใครๆ ก็รักษาไว้ไม่ได้ แม้เมื่อก่อนเขาวางยามประตูรักษาไว้ ก็ยังรักษาไว้ไม่ได้ เธอจะต้องการมาตุคามไปทำอะไร แม้ได้แล้วก็ไม่อาจจะรักษาเอาไว้ได้” แล้วได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า…
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นนกแขกเต้าชื่อ ราธะ มีน้องตัวหนึ่งชื่อ โปฏฐปาทะ อยู่ภายใต้การเลี้ยงดูของพราหมณ์ครอบครัวหนึ่ง ในเมืองพาราณสี พราหมณ์และนางพราหมณีไม่มีลูกด้วยกัน จึงเลี้ยงดูนกแขกเต้าทั้งสองตัวเป็นเสมือนลูกชาย พราหมณ์มีอาชีพค้าขายจะเดินทางออกจากบ้านไปค้าขายยังต่างแดน เป็นเวลาหลายวันค่อยกลับมา ช่วงที่พราหมณ์ไม่อยู่บ้าน นางพราหมณีมักจะคบชู้สู่ชายอยู่เป็นประจำ
วันหนึ่งก่อนออกเดินทางไปค้าขาย พราหมณ์ซึ่งพอจะทราบพฤติกรรมของภรรยาอยู่บ้างแต่ยังจับไม่ได้ จึงสั่งนกแขกเต้าสองพี่น้องว่า
“ลูกรัก พ่อจะไปค้าขาย เจ้าทั้งสองคอยดูแลแม่ของเจ้านะ ว่าช่วงพ่อไม่อยู่นี้มีชายคนใดมาหาหรือไม่ ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน”
ว่าแล้วกก็ออกเดินทางไป นับตั้งแต่วันที่พราหมณ์ออกจากบ้านไป นางพราหมณีก็คบชายชู้ไม่ซ้ำหน้ากันทั้งกลางวันกลางคืน นกโปฏฐปาทะ เห็นดังนั้นจึงถามพี่ชายว่า “แม่เราเป็นเช่นนี้ เราจะว่าแกดีไหมพี่”
นกราธะตอบว่า “อย่าเลยน้องมันจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตเราเสียเปล่า ๆ” แต่นกโกฎปาทะไม่เชื่อฟังคำพี่ชายได้พูดต่อว่านางพราหมณี เป็นเหตุให้นางพราหมณีโกรธมาก จับมาบิดคอขาดตายแล้วโยนใส่เตาไฟเผาทิ้งไป
หลายวันต่อมา พราหมณ์กลับมาถึงบ้านแล้วได้ถามนกราธะว่า
“ลูกรัก พ่อเพิ่งกลับมาจากที่ค้างแรมเดี๋ยวนี้เอง น้องเจ้าไปไหนเสียแล้วละ ในช่วงที่พ่อไม่อยู่บ้านนี้แม่ของเจ้าไม่ไปคบหาชายอื่นดอกหรือ”
นกราธะตอบเป็นคาถาว่า “ธรรมดาบัณฑิตไม่พูดคำที่เป็นจริงแต่ไม่ดี ขืนพูดไปจะพึงหมกไหม้ เหมือนนกแขกเต้าชื่อโปฏฐปาทะ หมกไหม้อยู่ในเตาไฟ” กล่าวจบก็นิ่งเสียไม่เล่าอะไรให้พราหมณ์ฟัง
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
การพูดความจริงที่ไม่ดีในที่ไม่เหมาะสม มักนำโทษมาให้แก่ผู้พูดมากกว่าผลดี