ม้าขาเป๋ เป็นนิทานชาดกที่สอนให้เรารู้จักเลือกคบคน เพราะคนที่เราคบจะเป็นแบบอย่างให้เรา เช่นเดียวกับม้ามงคลที่เดินขาเป๋ตามคนเลี้ยงขาเป๋ไป นิทานเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความจริงที่ว่า คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล
ม้าขาเป๋
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วันเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุผู้คบพวกผิดรูปหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า…
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นอำมาตย์ผู้สอนธรรมของพระเจ้าสามะ ในเมืองพาราณสี พระราชามีม้ามงคล อยู่ตัวหนึ่งชื่อปัณฑวะ มีรูปร่างสวยงามมาก ต่อมาคนเลี้ยงม้าคนเดิมเสียชีวิตลง จึงรับนายคิริทัตซึ่งเป็นชายขาเป๋เข้ามาเลี้ยงม้าตัวนี้แทน
ฝ่ายม้าปัณฑวะเดินตามหลังนายคิริทัตทุกวันสำคัญว่า “คนนี้สอนเรา” จึงกลายเป็นม้าขาเป๋ไป นายคิริทัตได้เข้ากราบทูลเรื่องมาขาเป๋ให้พระราชาทราบ พระองค์ได้สั่งแพทย์ให้ไปตรวจดูอาการของม้า แพทย์ตรวจดูแล้วไม่พบโรคอะไรจึงไปกราบทูลให้พระราชาทราบ พระองค์จึงรับสั่งให้อำมาตย์ไปตรวจดู อำมาตย์โพธิสัตว์ไปตรวจดูก็ทราบว่าม้านี้เดินขาเป๋เพราะเกี่ยวกับคนเลี้ยงม้าขาเป๋ จึงกราบทูลให้ทราบว่าม้านี้เดินขาเป๋เพราะเกี่ยวกับคนเลี้ยงม้าขาเป๋ จึงกราบทูลให้พระราชาทราบว่า “ขอเดชะ ม้าปัณฑวะของพระองค์เป็นปกติดี ที่เดินเช่นนั้นเป็นเพราะแบบคนเลี้ยงม้า พระเจ้าข้า”
พระราชาตรัสถามว่า “แล้วจะให้ทำอย่างไรกับม้านี้ละทีนี้” อำมาตย์จึงกราบทูลว่า “เพียงได้คนเลี้ยงม้าขาดี ม้าก็จะเป็นปกติเหมือนเดิม พระเจ้าข้า” แล้วกล่าวเป็นคาถาว่า
“ถ้าคนบริบูรณ์ด้วยอาการอันงดงามที่สมควรแก่ม้านั่น พึงจับมานั่นที่บังเหียนแล้วจูงไปรอบๆ สนามม้าไซร้ ม้าก็จะละอาการเขยกแล้วเลียนแบบคนเลี้ยงม้านั้นโดยพลัน”
พระราชารับสั่งให้เปลี่ยนคนเลี้ยงม้าใหม่ พอเปลี่ยนคนเลี้ยงม้าคนใหม่ ไม่นานม้านั้นก็เดินปกติดีเช่นเดิม พระราชาจึงได้พระราชทานลาภยศแก่พระโพธิสัตว์เป็นจำนวนมากในฐานะรู้อัธยาศัยของม้านั้น
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
คบคนพาล พาลพา ไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพา ไปหาผล