นิทานชาดก

นิทานชาดก : ราชสีห์ตกหล่ม

ราชสีห์ตกหล่ม นิทานชาดกที่สอนให้รู้ว่า “มิตรภาพแท้” นั้นมีค่ายิ่งกว่าสิ่งใด แม้จะแตกต่างกันทั้งรูปร่างหน้าตาและสถานะ แต่หากต่างฝ่ายต่างมีความจริงใจต่อกัน ก็สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้เสมอ

ราชสีห์ตกหล่ม

ในสมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภพระอานนทเถระ ผู้ได้รับการถวายผ้านุ่งจำนวน 500 ผืนจากพระเทวี เป็นเหตุให้พระเจ้าโกศลเข้าใจผิดคิดว่าพระเถระจะค้าขายผ้า เมื่อเข้าใจแล้วกลับยิ่งศรัทธาถวายผ้านุ่งอีก 500 ผืน ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า…

บทความที่เกี่ยวข้อง

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นราชสีห์อาศัยอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งกับตัวเมียอีกตัวหนึ่ง วันหนึ่ง ราชสีห์นั้นออกหากินได้ขึ้นไปยืนอยู่บนยอดเขามองดูสัตว์น้อยใหญ่ที่มาหากินอยู่ข้างสระใหญ่ข้างล่าง ในสระนั้นมีดินดอนที่เกิดจากเปลือกตมอยู่ดอนหนึ่ง พอเปลือกตมแห้งก็มีหญ้าอ่อนเกิดขึ้น มักจะเป็นที่หากินของกระต่าย เนื้อ แมวและสุนัขจิ้งจอกเสมอ

ในวันนั้นมีเนื้อตัวหนึ่งกำลังยืนแทะเล็มหญ้าอ่อนอยู่ที่ดอนนั้น ราชสีห์เห็นเนื้อนั้นแล้วก็หมายใจไว้ว่าจะจับกินเป็นอาหารในวันนี้ จึงกระโดดลงจากเขาวิ่งไปด้วยความเร็ว แต่เนื้อได้ยินเสียงเสียก่อนจึงวิ่งหนีไปได้หวุดหวิด ราชสีห์วิ่งมาด้วยความเร็ว ตกลงไปในบ่อโคลนตม ไม่สามารถขยับเขยื้อนขึ้นมาได้ ยืนอดอาหารอยู่อย่างนั้นถึง 7 วัน

Advertisement

ในวันที่ 7 ได้มีสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งเที่ยวหากินมาถึงที่นั้น พอเห็นราชสีห์เข้าก็ตกใจกลัวจะวิ่งหนีไป ราชสีห์จึงร้องเรียกมันให้ช่วยเหลือว่า

“สุนัขจิ้งจอกพ่อมหาจำเริญ..ท่านอย่ากลัวไปเลยเราติดหล่ม ช่วยเราด้วย”

สุนัขจิ้งจอกนั้นจึงพูดว่า

“ท่านราชสีห์ถ้าข้าพเจ้าช่วยเหลือท่านขึ้นมาแล้ว เกรงว่าท่านจะกินข้าพเจ้าเสียนะสิ”

ราชสีห์พูดว่า

“อย่ากลัวไปเลย เราไม่กินท่านดอก มีแต่จะตอบแทนบุญคุณท่านนั้นแหละ จงหาวิธีช่วยเราขึ้นไปที”

สุนัขจิ้งจอกได้ฟังราชสีห์พูดเช่นนั้นจึงตกลงใจเข้าไปช่วยเหลือด้วยการตะกุยเลนรอบเท้าทั้ง 4 ทำเป็นรางให้น้ำไหลเข้าไป พอน้ำไหล เข้าไปทำให้เลนอ่อน มันจึงเข้าไปดุนท้องราชสีห์พร้อมพูดกระตุ้นว่า

“พยายามเข้าท่าน” ราชสีห์จึงกระโดดขึ้นจากหล่มได้

พักอยู่ครู่หนึ่งแล้วลงไปอาบน้ำในสระนั้น ขึ้นมาล่าควายป่าได้ตัวหนึ่งได้มอบเนื้อส่วนหนึ่งให้สุนัขจิ้งจอก พร้อมกับพูดว่า

“กินเสียเถิด สหาย” ให้สุนัขจิ้งจอกกินอิ่มแล้ว ตัวเองจึงกินทีหลัง

ลำดับนั้น สุนัขจิ้งจอกได้กัดเนื้อก้อนหนึ่งคาบไว้ เมื่อราชสีห์ถามว่าท่านจะทำอะไร

มันจึงพูดว่า “ข้าพเจ้ามีภรรยาอยู่ตัวหนึ่งนอนรออาหารอยุ่ที่ถ้ำ”

ราชสีห์จึงพูดว่า “ถ้าเช่นนั้น พวกเราไปกันเถิด”

แม้ตัวเองก็คาบเนื้อชิ้นหนึ่งไปเพื่อนางราชสีห์เช่นกัน พาสุนัขจิ้งจอกไปที่ถ้ำแล้วชักชวนให้มาอยู่ที่ถ้ำใกล้ชิดกัน ตั้งแต่นั้นมาราชสีห์และสุนัขจิ้งจอกก็ได้ออกหาอาหารด้วยกันเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน

เมื่อเวลาผ่านไป นางราชสีห์และนางสุนัขจิ้งจอกได้ลูกคนละ 2 ตัว สัตว์ทั้งหมดอยู่กลมเกลียวกันเป็นอย่างดี ต่อมาวันหนึ่งนางราชสีห์เฉลียวใจว่า “ทำไมหนอ ราชสีห์สามีเราถึงได้รักนางสุนัขจิ้งจอกและลูกมันเหลือเกิน หรือจะมีการชมเชยกันเสียแล้วละ เราจะขับไล่นางสุนัขจิ้งจอกและ ลูกของมันให้หนีไปเสีย” พอถึงเวลาที่ราชสีห์และสุนัขจิ้งจอกออกหากิน นางจึงได้ไปขับไล่นางสุนัขจิ้งจอกให้หนีไปอยู่ที่อื่น ฝ่ายนางสุนัขจิ้งจอกพอสามีกลับมาแล้วก็เล่าเรื่องนั้นให้ฟังและชวนกันกลับไปอยู่ถ้ำของตนตามเดิม

สุนัขจิ้งจอกจึงเข้าไปหาราชสีห์ พูดว่า “นาย..ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่ก็นานแล้ว ธรรมดาผู้ที่อยู่นานๆ นักย่อมไม่เป็นที่พอใจของเจ้าของบ้าน นางราชสีห์ภรรยาท่านคุกคามลูกและภรรยาของข้าพเจ้าแล้ว ขอท่านพึงทราบด้วย พวกข้าพเจ้าขอลาไปละ”

ราชสีห์ได้ฟังคำของสุนัขจิ้งจอกแล้วจึงได้เล่าเรื่องสุนัขจิ้งจอกเป้นผู้มีบุญคุณ ช่วยเหลือชีวิตตนขึ้นจากโคลนตมให้นางราชสีห์ฟังพร้อมทั้งกล่าวเป็นคาถาว่า

“ถึงแม้ว่ามิตรจะมีกำลังด้อยกว่า แต่ตั้งอยู่ในมิตรธรรม เขาชื่อว่าเป็นญาติ เป็นเผ่าพันธุ์ เป็นมิตรและเป็นเพื่อนของเรา นี่นางผู้มีเขี้ยวแหลมคม เจ้าอย่าได้ดูหมิ่นสุนัขจิ้งจอกผู้ให้ชีวิตแก่เราอีกเลย”

นางราชสีห์ฟังคำนั้นแล้วจึงขอโทษสุนัขจิ้งจอก แต่นั้นมาสัตว์ทั้งหมดก็อยู่อย่างกลมเกลียวกันเหมือนเดิมเป็นมิตรกันตลอด 7 ชั่วตระกูล

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

มิตรแท้ ย่อมช่วยเหลือให้พ้นภัยได้

Advertisement

กดเพื่ออ่านเพิ่มเติม
Advertisement

Fern A.

สามารถสร้างสรรค์เรื่องราวที่หลากหลาย ทั้งนิทาน นิทานชาดก และนิทานอีสป โดยฉันจะเน้นไปที่การถ่ายทอดเรื่องราวที่สนุกสนานและเต็มไปด้วยข้อคิดสอนใจ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์จากเรื่องราวเหล่านั้น เชื่อว่านิทานเป็นสื่อที่ทรงพลัง สามารถปลูกฝังค่านิยมที่ดีให้กับเด็ก ๆ ได้ นิทานสามารถช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้เกี่ยวกับโลกรอบตัว รู้จักการคิดวิเคราะห์ รู้จักแยกแยะสิ่งดีสิ่งเลว รู้จักแก้ไขปัญหา และรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button