คุณเคยสงสัยไหมว่าอะไรคือคุณธรรมที่สำคัญที่สุดในโลก? คำตอบสำหรับคำถามนั้นอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่สำหรับชาวพุทธ ความกตัญญูเป็นคุณธรรมที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง
พญาช้างยอดกตัญญู
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุผู้ลี้ยงมารดารูปหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า…
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญาช้างเผือกขาวปลอด มีรูปร่างสวยงาม มีช้าง 80,000 เชือกเป็นบริวารเลี้ยงดูมารดาตาบอดอยู่ เมื่อพาบริวารออกหากินได้อาหารอันมีรสอร่อยแล้วก็จะส่งกลับมาให้มารดากิน แต่ก็ถูกช้างเชือกที่นำอาหารมากินเสียระหว่างทาง เมื่อกลับมาทราบว่ามารดาไม่ได้อาหารก็คิดจะละจากโขลงเพื่อเลี้ยงดูมารดาเท่านั้น ครั้นถึงเวลาเที่ยงคืนก็แอบนำมารดาหนีออกจากโขลงไปอยู่ที่เชิงเขาแล้วพักมารดาไว้ที่ถ้ำแห่งหนึ่ง ส่วนตนเองออกเที่ยวหาอาหารมาเลี้ยงดูมารดา
อยู่ต่อมาวันหนึ่ง มีพรานป่าชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่งเข้าป่ามาแล้วหลงทางออกจากป่าไม่ได้จึงนั่งร้องไห้อยู่ พญาช้างพอได้ยินเสียงคนร้องไห้ด้วยความเมตตากรุณาในเขา จึงนำเขาออกจากป่าไปส่งที่ชายแดนมนุษย์ ฝ่ายนายพรานเมื่อพบช้างที่สวยงามเช่นนั้น ก็คิดชั่วร้าย “ถ้าเรานำความกราบทูลพระราชา เราจักได้ทรัพย์มากเป็นแน่แท้” ขณะอยู่บนหลังช้างได้หักกิ่งไม้่กำหนดไว้เป็นสัญลักษณ์
ในสมัยนั้น ช้างมงคลของพระราชาได้ตายลง พระราชาจึงมีรับสั่งให้ตีกลองร้องประกาศว่าใครมีช้างที่สวยงามขอให้บอก นายพรานนั้นได้โอกาสจึงรับสั้งให้นายควญช้างพร้อมด้วยบริวารติดตามนายพรานนั้นเข้าป่านำพญาช้างนั้นมาถวาย
นายควาญช้างเมื่อพบพญาช้างแล้วก็ถูกใจ ส่วนพญาช้างขณะนั้นกำลังดื่มน้ำอยู่ในสระ เมื่อเห็นนายพรานนั้นกลับมาพร้อมผู้คนอีกจำนวนมากก็ทราบถึงภัยมาถึงตัวแล้ว จึงกำหนดสติข่มความโกรธไว้ในใจยืนนิ่งอยู่ นายควาญช้างได้นำพญาช้างเข้าไปในเมือง พาราณสี ฝ่ายช้างมารดาของพญาช้าง เมื่อไม่เห็นลูกมาจึงคร่ำครวญคิดถึงลูกว่า “ลูกเราสงสัยถูกพระราชาหรือมหาอำมาตย์จับไปแล้วหนอ เมื่อไม่มีพญาช้างอยู่ ไม้อ้อยช้าง ไม้มูกมัน ไม้ช้างน้าว หญ้างวงช้าง ข้าวฟ่าง และลูกเดือย จักเจริญงอกงาม”
ฝ่ายนายควาญช้างในระหว่างทางขณะกลับเข้าเมืองได้ส่งสาส์นไปถึงพระราชาเพื่อตบแต่งเมืองให้สวยงาม เมื่อถึงเมืองแล้วก็ประพรมน้ำหอมพญาช้าง ประดับเครื่องทรงแล้วนำไปไว้ที่โรงช้างขึ้นกราบทูลพระราชา
- พระราชาทรงนำอาหารอันมีรสเลิศต่าง ๆ มาให้พญาช้างด้วยพระองค์เอง พญาช้างคิดถึงมารดาจึงไม่กินอาหารนั้น พระองค์จึงอ้อนวอนมันว่า “พญาช้างตัวประเสริฐเอ๋ย เชิญพ่อรับคำข้าวเถิดเจ้ามีภารกิจมากมายที่ต้องทำ”
- พญาช้างพูดลอย ๆ ขึ้นว่า “นางช้างผู้กำพร้า ตาบอดไม่มีผู้นำทาง คงสะดุดตอไม้ล้มลงตรงภูเขาเป็นแน่”
- พระราชาตรัสถามว่า “พญาช้าง… นางช้างนั้นเป็นอะไรกับท่านหรือ”
- พญาช้าง “นางเป็นมารดาของข้าพระองค์เอง”
พระราชาเมื่อฟังแล้วเกิดความสลดใจมีรับสั่งให้ปล่อยพญาช้างว่า “พญาช้างนี้เลี้ยงดูมารดาตาบอดอยู่ในป่า ท่านทั้งหลายปล่อยมันกลับไปเถิด”
พญาช้างเมื่อถูกปล่อยให้อิสระพักอยู่หน่อยหนึ่งแล้วแสดงธรรมต่อพระราชาว่า “มหาราชเจ้า ขอพระองค์จงอย่าเป็นผู้ประมาทเถิด” แล้วได้กลับไปยังที่อยู่ของตน ได้นำน้ำในสระไปรดตัวมารดาที่นอนร่างกายผ่ายผอมเพราะไม่ได้อาหารมาแลัว 7 วัน เป็นอันดับแรก
ฝ่ายช้างมารดาเมื่อถูกน้ำราดตัวเข้าใจว่าฝนตกจึงพูดขึ้นว่า “ฝนอะไรนี่ตกไม่เป็นฤดู ลูกเราไม่อยู่เสียแล้ว”
พญาช้างจึงพูดปลอบใจมารดาว่า “แม่.. เชิญลุกขึ้นเถิดลูกของแม่มาแล้ว พระราชาผู้ทรงธรรมให้ปล่อยมาแล้วละ”
นางช้างดีใจมากได้อนุโมทนาแก่พระราชาว่า “ขอให้พระองค์ทรงพระชนม์ยืนนาน เจริญรุ่งเรืองเถิดที่ได้ปล่อยลูกของข้าพระองค์คืนมา”
ฝ่ายพระราชาทรงเลื่อมใสในพญาช้าง จึงมีรับสั่งให้ตั้งอาหารไว้เพื่อพญาช้างและมารดาเป็นประจำ ตั้งแต่วันที่ปล่อยพญาช้างไปและรับสั่งให้สร้างรูปเหมือนพญาช้างจัดงานฉลองช้างขึ้นเป็นประจำทุกปี พญาช้างเมื่อมารดาเสียชีวิตแล้วก็ได้อยู่อุปัฏฐากคณะฤๅษี 500 ตน จนตราบเท่าชีวิต
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
ความกตัญญูกตเวทีเลี้ยงดูมารดา บิดาเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ แม้พระราชาก็ทรงบูชาผู้นั้น