นิทานชาดก

นิทานชาดก : นางนกไส้

นิทานชาดก : นางนกไส้ เป็นนิทานที่สะท้อนให้เห็นถึงโทษของการอธรรมและความรุนแรง เรื่องราวของนางนกไส้ที่พยายามปกป้องลูกน้อยจากช้างใจทราม ถึงแม้นางนกไส้จะเป็นเพียงนกตัวเล็ก ๆ แต่นางก็ไม่ยอมย่อท้อต่อความอยุติธรรม และในที่สุดนางก็ได้รับความช่วยเหลือจากสัตว์ทั้งหลายจนสามารถเอาชนะช้างใจทรามได้

นางนกไส้

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ ทรงปรารภพระเทวทัตผู้ไม่มีความกรุณาปรานีแก่หมู่สัตว์ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า…

บทความที่เกี่ยวข้อง

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วพระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญาช้างมีช้างประมาณ 80,000 เชือก เป็นบริวารอาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ในที่ไม่ไกลจากที่อยู่ของช้างนั้นมีนางนกไส้ (นกต้อยตีวิด) ตัวหนึ่งตกฟองไข่อยู่ที่พื้นดินใกล้ทางเดินของพญาช้าง ในรังนั้นมีลูกนกออกใหม่หลายตัว

วันหนึ่ง พญาช้างนำบริวารหากินไปถึงที่นั้น นางนกไส้เห็นช้างกำลังเดินมา กลัวว่าจะเหยียบลูกน้อยจึงประคองปีกทั้งสองข้างยืนอยู่ต่อหน้าพญาช้างพูดอ้อนวอนว่า “ท่านพญาช้าง ข้าพเจ้าขอไหว้ท่านด้วยปีกทั้งสอง ขอพวกท่านอย่าได้เหยียบลูกน้อยของข้าพเจ้าผู้ไม่มีกำลังเลย” พญาช้างตอบว่า “แม่นางนกไส้ ไม่ต้องกลัวเราจะรักษาลูกของเจ้าให้เอง” ว่าแล้วก็ยืนค่อมรังนกไว้ ให้ช้างบริวารเดินผ่านไปก่อน แล้วได้กล่าวเตือนนางนกไส้ว่า “ยังมีช้างเกระเชือกหนึ่งมักหากินผู้เดียวจะตามหลังมา เขาไม่อยู่ในโอวาทเรา เจ้าจงอ้อนวอนเขาเองนะ” ว่าแล้วก็เดินตามหลังช้างบริวาร ต่อมาไม่นานช้างหัวดื้อชอบแตกโขลงตัวนั้นก็มาถึงที่นั้น นางนกไส้ก็แสดงตนพร้อมพูดอ้อนวอนเหมือนกับครั้งก่อน ช้างนั้นพอได้ฟังว่ามีลูกนกอยู่ข้างหน้ายิ่งชอบใจใหญ่ กล่าวตอบนางนกไส้ว่า “แม่นางนกไส้เอ๋ย.. เราจักฆ่าลูกน้อยของเจ้าทั้งหมด เจ้าจะมีปัญญาทำอะไรเราได้” ว่าแล้วก็เดินเข้าไปกระทืบรังนกแหลกละเอียดแล้วร้องแป้น ๆ เดินจากไป

Advertisement

ฝ่ายนางนกไส้ที่บินหนีตายขึ้นไปจับบนกิ่งไม้ ได้พูดอาฆาตตามหลังช้างนั้นไปว่า “เจ้าช้างเกเร วันนี้เป็นวันของท่าน ปล่อยให้ท่านไปก่อน วันข้างหน้าเราจะเห็นดีกัน การใช้กำลังทำลายผู้ไม่มีกำลังไม่ดีแน่สำหรับท่าน” กล่าวจบก็บินไปขอความช่วยเหลือจากกา กาถามว่าจะให้ช่วยเหลืออะไร นางนกไส้จึงเล่ารายละเอียดให้ฟังว่า “ท่านกา ขอเพียงท่านช่วยจิกตาช้างให้บอดเท่านั้นเอง กาก็รับคำช่วยเหลือนั้น

นางนกไส้เข้าไปหาแมลงวันหัวเขียว เล่าเรื่องให้ฟังแล้วขอความช่วยเหลือให้แมลงวันหัวเขียวไข่ใส่ตาช้าง แมลงวันก็รับคำช่วยเหลือ ต่อจากนั้นก็เข้าไปหากบตัวหนึ่ง เล่าเรื่องให้ฟัง และก็ขอความช่วยเหลือว่า “ท่านกบเมื่อช้างตาบอดและแมลงวันไข่ใส่ตามันแล้วมันก็จะแสวงหาน้ำดื่ม ขอให้ท่านไปอยู่ที่ปากเหวส่งเสียงร้องล่อช้างไปตกเหวให้หน่อย” กบก็รับคำช่วยเหลือ

หลายวันต่อมา นางนกไส้เสาะแสวงหาจนพบช้างเกเรตัวนั้นแล้วจึงไปบอกกา กาได้ไปจิกตานั้นบอดทั้งสองข้างแมลงวันหัวเขียวก็ไปไข่หนอนใส่ตาช้างอีก สร้างความเจ็บปวดทรมานให้แก่ช้างเป็นอย่างยิ่ง สองสามวันต่อมาช้างเดินสะเปะสะปะโซซัดโซเซแสวงหาสระน้ำดื่ม ได้ยินเสียงกบร้องแว่วมาแต่ไกลจึงกำหนดทิศทางเสียงกบด้วยเข้าใจว่ากบร้องอยู่ข้างสระน้ำ เดินไปไม่นานก็ผลัดตกเหวตายในที่สุด สร้างความดีใจแก่นางนกไส้เป็นอย่างยิ่งที่ศัตรูได้ตายไป

พระพุทธองค์เมื่อเล่านิทานจบจึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลายขึ้นชื่อว่าเวรไม่ควรทำกับใคร ๆ แม้สัตว์ทั้ง 4 ร่วมมือกันทำให้ช้างผู้มีกำลังกว่าให้ตายได้” แล้วตรัสพระคาถาว่า

“ท่านจงดูกา นางนกไส้ กบ และแมลงวันหัวเขียว สัตว์เหล่านี้ได้ฆ่าช้างแล้ว จงดูการจองเวรของคนคู่เวรทั้งหลาย เพราะฉะนั้น พวกเธออย่าได้ก่อเวรกับใคร ๆ แม้กับคนไม่เป็นที่รักเลย”

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

อย่าคิดข่มเหงคนอื่น ด้วยการดูถูกว่าเขามีกำลังน้อยกว่า เพราะการสร้างเวรย่อมนำความเดือดร้อนมาให้

Advertisement

กดเพื่ออ่านเพิ่มเติม
Advertisement

Fern A.

สามารถสร้างสรรค์เรื่องราวที่หลากหลาย ทั้งนิทาน นิทานชาดก และนิทานอีสป โดยฉันจะเน้นไปที่การถ่ายทอดเรื่องราวที่สนุกสนานและเต็มไปด้วยข้อคิดสอนใจ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์จากเรื่องราวเหล่านั้น เชื่อว่านิทานเป็นสื่อที่ทรงพลัง สามารถปลูกฝังค่านิยมที่ดีให้กับเด็ก ๆ ได้ นิทานสามารถช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้เกี่ยวกับโลกรอบตัว รู้จักการคิดวิเคราะห์ รู้จักแยกแยะสิ่งดีสิ่งเลว รู้จักแก้ไขปัญหา และรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button