วันสำคัญ

วันออกพรรษา ร่วมสืบสานประเพณีไทย

ออกพรรษา (ภาษาอังกฤษ End of Buddhist Lent Day) (ดิ เอนด์ ออฟ บุด ดิสต์ เล้นท์ เดย์) เมื่อเทศกาลเข้าพรรษาได้ผ่านพ้นไปถึง 3 เดือน ก็จะเป็นช่วงเวลาของ “วันออกพรรษา” ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดระยะการจำพรรษา หรือออกจากการอยู่ประจำที่วัดในช่วงฤดูฝนตลอด 3 เดือนของพระภิกษุสงฆ์ โดยวันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า “วันมหาปวารณา” คำว่า “ปวารณา” นั้นแปลว่า อนุญาตหรือยอมให้ โดยในปีนี้ ออกพรรษา ตรงกับวันที่ 7 ตุลาคม 2568

วันออกพรรษา

วันออกพรรษา คือ

ออกพรรษา คือ วันที่สิ้นสุดระยะการจำพรรษาเป็นเวลา 3 เดือน (นับแต่วันเข้าพรรษา) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันมหาปวารณา” คำว่า “ปวารณา” แปลว่า “อนุญาต” หรือ “ยอมให้” ในวันออกพรรษานี้พระสงฆ์จะประกอบพิธีทำสังฆกรรม เรียกว่า มหาปวารณา เป็นการเปิดโอกาสให้ภิกษุว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกันได้ เนื่องจากในระหว่างที่เข้าพรรษาอยู่ด้วยกัน พระสงฆ์บางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข และการให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนก็จะทำให้รู้ข้อบกพร่องของตน อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ถามข้อสงสัยซึ่งกันและกันได้ด้วย พระผู้ใหญ่ก็กล่าวตักเตือนพระผู้น้อยได้ และพระผู้มีอาวุโสน้อยก็สามารถชี้แนะถึงข้อไม่ดีของพระผู้ใหญ่ได้เช่นกัน แม้พระผู้ใหญ่จะมีอาวุโสมากกว่า แต่ท่านก็มิได้สำคัญตนผิดคิดว่าท่านทำอะไรแล้วถูกไปหมดทุกอย่าง เพื่อเป็นเครื่องมือชี้ให้เห็นวิธีการคอยสังวร คือ ตามระวัง ไม่ประมาท ไม่ยอมให้ความเลวร้ายเกิดขึ้นได้ เหมือนล้อมรั้วไว้ก่อนที่วัวจะหาย ไม่ว่าจะอยู่ในเทศกาลเข้าพรรษาหรือออกพรรษา พระท่านจะประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ตามระบอบของพระธรรมวินัยอยู่ตลอดเวลา

สำหรับคำกล่าว ปวารณา มีคำกล่าวเป็นภาษาบาลี ดังนี้ “สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ ทิฎเฐนะ วา สุเตนะ วาปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัสมันโต อะนุกัมปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปะฏิกกะริสสามิ” มีความหมายว่า ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นหรือได้ฟังก็ตาม ขอท่านทั้งหลายโปรดอนุเคราะห์ ว่ากล่าวตักเตือนกระผมด้วย เมื่อกระผมมองเห็นแล้ว จักประพฤติตัวเสียใหม่ให้ดี

เมื่อทำพิธีออกพรรษาแล้ว พระภิกษุสงฆ์สามารถจาริกไปในสถานที่ต่าง ๆ หรือค้างคืนที่อื่นได้โดยไม่ผิดพระพุทธบัญญัติ และยังได้รับอานิสงส์ คือ

  • ไปไหนไม่ต้องบอกลา
  • ไม่ต้องถือผ้าไตรครบชุด
  • มีสิทธิ์รับลาภที่เกิดขึ้นได้
  • มีโอกาสได้อนุโมทนากฐิน ที่จะสามารถขยายเวลาของอานิสงส์ออกไปอีก 4 เดือน

ความสําคัญวันออกพรรษา

วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี เป็นวันหนึ่งที่มีความสำคัญในทางพุทธศาสนา หลังจากเทศกาลเข้าพรรษา ได้ผ่านพ้นไปแล้ว 3 เดือน ก็จะเป็นช่วงเวลาของ ออกพรรษา ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุด ระยะการจำพรรษา หรือออกจากการจำพรรษาที่วัด ในช่วงฤดูฝนตลอด 3 เดือน ของพระภิกษุสงฆ์ โดยวันออกพรรษานั้นจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ซึ่งจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันมหาปวารณา ซึ่งคำว่า ปวารณานั้น ก็แปลว่า อนุญาตหรือยอม ให้นั่นเอง

Advertisement

กิจกรรมวันออกพรรษา
image : ศูนย์ภาพนิ่งและบรรณาธิการภาพ

กิจกรรมวันออกพรรษา

  • ทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ
  • ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา
  • ร่วมกิจกรรม ตักบาตรเทโว
  • ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการและประดับธงชาติ และธงธรรมจักร ตามวัดและสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา
  • ตามสถานที่ราชการ สถานที่ศึกษาและที่วัด ควรจัดให้มีนิทรรศการ การบรรยาย หรือ บรรยายธรรม เกี่ยวกับออกพรรษา เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้สนใจทั่วไป

การปฏิบัติตนวันออกพรรษา

  • ทำบุญตักบาตร ถือศีล ปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา
  • ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด งดการเที่ยวเตร่ ละเว้นอบายมุข ละเว้นการฆ่าสัตว์และบริโภคเนื้อสัตว์ในวันสำคัญทางพุทธศาสนา
  • ศึกษาข้อธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
  • ประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนา

ประโยชน์จะได้รับจากวันออกพรรษา

  • เมื่อออกพรรษามาถึงเป็นการเตือนใจชาวพุทธว่า เวลาที่ผ่านไป ชีวิตก็ใกล้ตายเข้าไปทุกขณะแล้ว ควรเร่งทำกุศล และยังได้ถึงความปีติ ที่ได้บำเพ็ญกิจมาตลอดพรรษาและเป็นการเตือนสติอย่าให้จิตของตนละเลิกการทำกุศลไม่ให้ตกไปสู่ทางอบายมากเกินไป
  • ประโยชน์ที่โดดเด่น คือประโยชน์ของการปวารณาที่สงฆ์การกระทำกันในวันออกพรรษาเพื่อให้สงฆ์ดำรงค์ความเป็นปึกแผ่นแน่นเหนียวยากแก่การทำลาย ถ้าคนในชาติเราทุกฝ่ายหันมา ปวารณากัน คือเปิดใจกัน เปิดเผยซึ่งกันและกัน หันหน้ามารวมพลังกันพัฒนาประเทศความทุกข์ก็จะบรรเทาเบาบางลง

ประโยชน์ที่เกิดขึ้นแห่งสังคมโลก

การปฏิบัติตามกิจกรรมออกพรรษา สามารถกระทำให้เกิดความเข้าใจในสังคมโลกได้ โดยสามารถว่ากล่าวตักเตือนและให้โอกาสกล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน สร้างให้เพื่อนมนุษย์ได้รู้ร่วมกันย่อมมีสิ่งที่จะต้องกระทบกระทั่งกันทั้งกาย วาจา หรือใจ การแสดงตนยอมให้ผู้อื่นตักเตือน และผู้ที่ตักเตือนก็ตักเตือนด้วยจิตที่มีเมตตา นับว่าเป็นการสร้างสรรค์สิ่งดีงามถูกต้องให้กับสังคมและเพื่อนร่วมโลกอย่างแท้จริง

รูปวันออกพรรษา

ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวันออกพรรษา

ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ

หลังวันออกพรรษา 1 วัน คือ แรม 1 ค่ำ เดือน 11 จะมีการ ตักบาตรเทโว หรือชื่อเต็มตามคำพระว่า เทโวโรหนะ แปลว่า การหยั่งลงจากเทวโลก โดยสามารถเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ตักบาตรดาวดึงส์” โดยอาหารที่นิยมนำไปใส่บาตรคือ ข้าวต้มมัด และ ข้าวต้มลูกโยน

ความเป็นมาประเพณีตักบาตรเทโว

สมัยพุทธกาล เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม และเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาโดยจำพรรษาอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเวลา 1 พรรษา และเมื่อออกพรรษาแล้วพระองค์ได้เสด็จกลับยังโลกมนุษย์ ณ เมืองสังกัสสคร การที่พระพุทธองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรียกตามศัพท์ภาษาบาลีว่า “เทโวโรหณะ” ในครั้งนั้นบรรดาพุทธศาสนิกชนผู้มีความศรัทธาเลื่อมใส เมื่อทราบข่าวต่างพร้อมใจกันไปรอตักบาตรเพื่อรับเสด็จกันอย่างเนืองแน่น จนถือเป็นประเพณีตักบาตรเทโวปฏิบัติสืบทอดกันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

โดยพิธีตักบาตรเทโวโรหณะในปัจจุบันนั้นจะเริ่มตั้งแต่ตอนรุ่งอรุณ หลัง ออกพรรษา พระภิกษุสามเณรลงทำวัตรในพระอุโบสถ พอพระอาทิตย์ขึ้นก็สมมติว่า พระลงมาจากบันไดสวรรค์ บางที่ก็มีดนตรีบรรเลงเพลงไทยเดิม สมมุติว่าเป็นพวกเทวดาบรรเลง ขับกล่อมตามส่งพระพุทธเจ้า ยังมีพวกแฟนตาซีอีก แต่งเป็นพวกยักษ์ เทวดา พระอินทร์ พรหม นางเทพธิดา นำหน้าขบวนพระภิกษุสามเณร ชาวบ้านก็จะใส่บาตรด้วยอาหารหวาน อาหารคาว ข้าวต้มลูกโยน ข้าวต้มมัดจึงเป็นสัญลักษณ์ของพิธีนี้

ประเพณีเทศน์มหาชาติเวสสันดรชาดก

งานเทศน์มหาชาติ นิยมทำกันหลัง ออกพรรษา พ้นหน้ากฐินไปแล้ว ซึ่งกฐินจะทำกัน 1 เดือนหลังออกพรรษา ที่จะร่วมกันทอดกฐินทั้ง จุลกฐิน และ มหากฐิน โดยประเพณีงานเทศน์มหาชาติอาจทำในวันขี้น 8 ค่ำกลางเดือน 12 หรือในวันแรม 8 ค่ำ ก็ได้ เพราะในช่วงนี้น้ำเริ่มลดและข้าวปลาอาหารกำลังอุดมสมบูรณ์ จึงพร้อมใจกันทำบุญทำทานและเล่นสนุกสนานรื่นเริง แต่ในภาคอีสานนั้นนิยมทำกันในเดือน 4 เรียกว่า “งานบุญพระเวส” ซึ่งเป็นช่วงที่เสร็จจากการทำบุญลานเอาข้าวเข้ายุ้ง ในภาคกลาง บางท้องถิ่นทำกันในเดือน 5 ต่อเดือน 6 ก็มี

งานเทศน์มหาชาตินั้นจะทำในเดือนไหนก็ได้ไม่จำกัดฤดูกาล โดยมากเพื่อเป็นการหาเงินเข้าวัด บางแห่งนิยมทำในเดือน 10 โดยการเทศน์มหาชาตินั้น มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 13 กัณฑ์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดรอันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระบรมโพธิสัตว์ ก่อนที่จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ และออกบวชจนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ประเพณีถวายผ้ากฐินทาน

เป็นประเพณีที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนอย่างหนึ่ง นิยมทำกันตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ไปจนถึงกลางเดือน 12 (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 – วันลอยกระทง) คำว่า กฐิน แปลว่า ไม้สะดึง คือกรอบไม้ชนิดหนึ่งสำหรับขึงผ้าให้ตึง สะดวกแก่การเย็บ ในสมัยโบราณเย็บผ้าต้องเอาไม้สะดึงมาขึงผ้าให้ตึงเสียก่อน แล้วจึงเย็บ เพราะช่างยังไม่มีความชำนาญเหมื่อนสมัยปัจจุบันนี้ และเครื่องมือในการเย็บก็ยังไม่เพียงพอ เหมือนจักรเย็บผ้าในปัจจุบัน

การทำจีวรในสมัยโบราณจะเป็นผ้ากฐินหรือแม้แต่จีวรอันมิใช่ผ้ากฐิน ถ้าภิกษุทำเอง ก็จัดเป็นงานเอิกเกริกทีเดียว เช่น ตำนานกล่าวไว้ว่า การเย็บจีวรนั้น พระเถรานุเถระต่างมาช่วยกัน เป็นต้นว่า พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จลงมาช่วย ภิกษุสามเณรอื่น ๆ ก็ช่วยขวนขวายในการเย็บจีวร อุบาสกอุบาสิกาก็จัดหาน้ำดื่มเป็นต้น มาถวายพระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระสัมมาสัมพุทธะเป็นประธาน โดยนัยนี้ การเย็บจีวรแม้โดยธรรมดา ก็เป็นการต้องช่วยกันทำหลายผู้หลายองค์ (ไม่เหมือนในปัจจุบัน ซึ่งมีจีวรสำเร็จรูปแล้ว)

ประเพณีวันออกพรรษาแต่ละภาค
image : ศูนย์ภาพนิ่งและบรรณาธิการภาพ

ประเพณีวันออกพรรษาแต่ละภาค

ประเพณีวันออกพรรษาในแต่ละภาค ส่วนใหญ่แล้วในวันออกพรรษาของแต่ละภาคจะไม่เหมือนกันครับเราจะมาทำความรู้จักกับการทำบุญออกพรรษาในแต่ละภาคกันดังนี้

ภาคเหนือ

ภาคเหนือ นั้นจะเน้นในเรื่องของการปล่อยโคมลอยซึ่ง ชาวบ้านหรือคนพื้นเมืองเหนือจะนิยมเล่น หรือมีการแข่งขันกันทำโคมในเทศกางานประเพณีสำคัญ ๆ ของหมู่บ้านของตน อาทิ งานทำบุญวันเข้าพรรษา งานทำบุญออกพรรษา หรืองานบุญต่าง ๆ ตามวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา โดยชาวบ้านมักมีความเชื่อกันว่า การปล่อยโคมให้ล่องลอยไปบนอากาศนั้น เพื่อให้ ‘โคม’ ซึ่งเป็นเหมือนสื่อกลางในการพาเอาเคราะร้ายภัยพิบัติ เรื่องราวที่ไม่ดี ต่าง ๆ ให้ลอยออกไปจาก

ภาคกลาง

ภาคกลาง ที่จังหวัดอุทัยธานีจะมีประเพณีการตักบาตรเทโว พระภิกษุก็จะเดินลงมาจากวัดซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสูง ณ วัดสะแกกรัง ลงมารับบิณฑบาตจากชาวบ้าน โดยขบวนพระภิกษุสงฆ์ที่ลงมาจากบันไดนั้นนิยมให้มีพระพุทธรูปนำหน้า

ทำการสมมติว่าเป็นพระพุทธเจ้า จะใช้พระปางอุ้มบาตร ห้ามมาร ห้ามสมุทร รำพึง ถวายเนตรหรือปางลีลา ตั้งไว้บนรถหรือตั้งบนคานหาม มีที่ตั้งบาตรสำหรับอาหารบิณฑบาต จังหวัดนครปฐม ที่พระปฐมเจดีย์ พระภิกษุสามเณรจะมารวมกันที่องค์พระปฐมเจดีย์ แล้วก็เดินลงมาจากบันไดนาคหน้าวิหารพระร่วง สมมติว่าพระเดินลงมาจากบันไดสวรรค์ชาวบ้านก็คอยใส่บาตร

ภาคใต้

ภาคใต้ ประเพณีชักพระ ซึ่งภาษาถื่นทางภาคใต้จะเรียกว่า พิธีลากพระ ซึ่งมีด้วยกันถึง 2 แบบ คือ ชักพระทางบก และชักพระทางน้ำ การชักพระทางบก จะจัดขึ้นเป็นประจำสืบเนื่องกันมาตลอดหลัก ๆ อยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งก่อนหน้าวันชักพระ 2 วันจะมีพิธีการตักบาตรหน้าล้อนคือการใส่อาหารคาวหวานแล้ว

ยังมีสิ่งที่สื่อแทนเป็นสัญลักษณ์ของงานทำบุญออกพรรษา นั่นก็คือ ปัด โดยในภาคกลางมีชื่อเรียกว่า ข้าวต้มลูกโยน โดยก่อนหน้าที่จะถึงออกพรรษาประมาณ 1-2 สัปดาห์ทางวัดจะทำเรือบก คือ การเอาท่อนไม้ขนาดใหญ่ 2 ท่อนมาแกะสลักทำเป็นพญานาค 2 ตัว เพื่อเป็นแม่เรือที่มีการยึดไว้อย่างแข็งแรง แล้วจึงปูด้วยแผ่นไม้กระดาน วางบุษบก ก่อนจะนำพระพุทธรูปยืน ส่วนรอบบุษบกจะทำการวางเครื่องดนตรี ไว้เพื่อบรรเลงเวลาเคลื่อนขบวนพระไปยังบริเวณงานโดยรอบนั่นเอง ครั้นพอถึงช่วงเช้าวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 ชาวบ้านจะออกมาช่วยกันชักพระ

โดยถือเชือกขนาดใหญ่ประมาณ 2 เส้นที่ได้ทำการผูกไว้กับพญานาคทั้ง 2 ตัว ซึ่งภายในบริเวณงานจะมีการสมโภช และมีการเล่นกีฬาพื้นบ้านต่าง ๆ มากมาย 2.การชักพระทางน้ำ การทำพิธีชักพระทางน้ำ ก็จะจัดขึ้นก่อนถึงวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 เช่นกัน โดยทางวัดที่อยู่ติดกับริมแม่น้ำ จะรับหน้าที่ในการตระเตรียมสิ่งของต่าง ๆ อย่างเช่นการนำเรือมาประมาณ 2-3 ลำ มาปูพื้นด้วยไม้กระดานเพื่อตั้งบุษบก หรือมีการพนมพระก่อนจะประดับประดาด้วยธงทิว ภายในตัวของบุษบกก็จะทำการตั้งพระพุทธรูปในเรือ ซึ่งในบางครั้ง ก็จะมีเครื่องดนตรีคอยประโคมคลอไปตลอดทางที่เรือเคลื่อนตัวไปจนรอบสถานที่ที่กำหนด

ภาคอีสาน

ภาคอีสาน ภายในมีกิจกรรมที่สำคัญที่จัดขึ้นโดยเขตเทศบาลเมืองหนองคาย ประกอบด้วยการแสดงแสง เสียง เปิดตำนานบั้งไฟพญานาค, ถนนอาหาร, การแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานฯ และการประกวดแดนซ์ซ่าหรรษา เป็นต้น ส่วนกิจกรรมที่จัดในเขตอำเภอโพนพิสัย งาน บั้งไฟพญานาคโลก นั้น ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาหลายกิจกรรม เช่น การทำบุญมหากุศล 9 วัด, การเจริญศีลสวดมนต์ภาวนาและนั่งสมาธิ และการบวงสรวงวันเปิดโลก “บูชาพญานาค” เป็นต้น

หลักธรรมในวันออกพรรษา

ในเทศกาลออกพรรษา มีหลักธรรมสำคัญที่ควรนำไปปฏิบัติ คือ ปวารณา การเปิดโอกาสให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนตนเองได้ ในการปวารณานี้อาจแบ่งบุคคลออกเป็น 2 ฝ่าย คือ

  1. ผู้ว่ากล่าวตักเตือน จะต้องเป็นผู้มีเมตตา ปรารถนาดีต่อผู้ที่ตนว่ากล่าวตักเตือน เรียกว่ามีเมตตาทางกาย ทางวาจา และทางใจ พร้อมมูล
  2. ผู้ถูกว่ากล่าวตักเตือน ต้องมีใจกว้าง มองเห็นความปรารถนาดีของผู้ตักเตือน ดีใจดังมีผู้มาบอกขุมทรัพย์ให้ การปวารณา จึงเป็นคุณธรรมสร้างความสมัครสมานสามัคคีและดำรงความบริสุทธิ์หมดจดไว้ในสังคมพระสงฆ์ การปวารณา แม้จะเป็นสังฆกรรมของสงฆ์ ก็อาจนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมชาวบ้าน เช่น การปวารณากันระหว่างสมาชิกในครอบครัว ในสถานศึกษา ในสถานที่ทำงาน พนักงานในห้างร้าน บริษัทและหน่วยงานราชการ เป็นต้น

การปฏิบัติตนในวันออกพรรษา

  1. ตอนเช้าทำบุญตักบาตรที่วัด รักษาศีล ฟังธรรมเทศนา และเจริญจิตภาวนา
  2. ตอนค่ำประชาชรมาร่วมพิธีเวียนเทียนโดยมาพร้อมกันที่หน้าพระอุโบสถ ในขณะที่เวียนเทียนให้ระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
  3. ชาวพุทธที่ไปทำบุญที่วัดในวันพระ คือ เมื่อถึงวันพระชาวพุทธก็ไปทำบุญที่วัด เตรียมอาหารคาว หวาน จัดใส่ปิ่นโตพร้อมนำดอกไม้ ธูป เทียนบูชาพระประธานที่วัด
  4. ชาวพุทธไปรักษาศีลอุโบสถ รักษาศีล 5 ศีล 8 จะค้างที่วัดชาวพุทธจะไปรักษาศีลอุโบสถที่วัด นิยมสวมชุดสีขาวเพื่อระวังจิตใจของตนเองให้ขาวสะอาดบริสุทธิ์ เหมือนผ้าสีขาวที่ใส่หรือสวมชุดภาพเรียบร้อย

ออกพรรษาเป็นวันที่มีความสำคัญต่อพุทธศาสนิกชนทั้งพระภิกษุสงฆ์และฆราวาส เป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองการสิ้นสุดการจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์ และเป็นวันแห่งการระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มายังโลกมนุษย์ เพื่อเป็นการแสดงธรรมโปรดพุทธมารดาและเวไนยสัตว์ทั้งหลาย

นอกจากความสำคัญของออกพรรษาในฐานะวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาแล้ว ออกพรรษายังเป็นวันแห่งการเริ่มต้นใหม่ เป็นวันแห่งการเริ่มต้นที่จะทำความดี ละเว้นความชั่ว และดำเนินชีวิตตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ในออกพรรษานี้ พุทธศาสนิกชนจึงควรร่วมกันทำบุญกุศล ประพฤติปฏิบัติธรรม และงดเว้นการทำบาปทั้งปวง เพื่อที่จะได้มีโอกาสบรรลุถึงความสุขและความเจริญในชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ในโอกาสออกพรรษานี้ ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมทำบุญกุศล ประพฤติปฏิบัติธรรม และงดเว้นการทำบาปทั้งปวง เพื่อที่จะได้มีโอกาสบรรลุถึงความสุขและความเจริญในชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคต

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

Advertisement

กดเพื่ออ่านต่อ
Advertisement

NaniTalk S.

เป็นนักเขียนที่ขยันขันแข็งและมุ่งมั่นที่จะผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ เชื่อว่าเนื้อหาที่ดีสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกได้

บทความที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button